วันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2554

แอบดูเมืองไทย



             สมชายอยู่เมืองไทย จอนห์นี่อยู่อังกฤษ เดวิทอยู่นิวยอร์ก สมัยก่อนถ้า 3 คนอยากคุยกัน ต้องเก็บเสื้อผ้าใส่กระเป๋า กระโดดขึ้นเรือสำเภาเดินทางแรมเดือนกว่าจะเจอกันได้   เรียกได้ว่าเป็นเรื่องยากเย็นลำบากเหลือหลาย  แต่พอมนุษย์รู้จัก"วิทยาศาสตร์" แต่ละวันแต่ละปีมีการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆขึ้นมาเรื่อย การติดต่อสื่อสารกลายเป็นเรื่องง่ายดาย ไร้ปัญหา
           รัสเซีย เดินล้ำหน้าไปก่อน ส่งดาวเทียม"สปุกนิค"ขึ้นไปลอยเคว้งคว้างนอกโลกเป็นดวงแรก ต่อมายักษ์ใหญ่แต่ละชาติก็ทยอยส่งดาวเทียมของตนออกไป 
           มาถึงตอนนี้มีดาวเทียมลอยเกลื่อนอยู่นอกโลกประมาณ 4,000 ดวง  สามพันดวงเป็นดาวเทียมทีเกี่ยวข้องกับกิจการทหาร  ที่เหลือแยกออกเป็นทั้งดาวเทียมเพื่อการสื่อสาร  ดาวเทียมศึกษาธรรมชาติของโลก สิ่งแวดล้อม รวมถึงดาวเทียมที่ใช้ในการพยากรณ์อากาศ
          เจ้าดาวเทียมนี่แหละครับที่เป็นตัวเชื่อมทำให้โลกแคบลงเรื่อยๆ  พอโลกถุกมนุษย์ย่อส่วนให้เล็กลงกลายเป็นโลกยุคข้อมูลข่าวสาร การติดต่อ เชื่อมโยง ทั้งสังคม การค้า การลงทุน ก็แห่ตามมาเป็นพรวน
          ทุกประเทศในโลกเดี๋ยวนี้ต้องพยายามจับมือรวมกันเป็นกลุ่ม เพื่อต่อรอง ชิงความได้เปรียบ ไม่สามารถอยู่แบบโดดเดี่ยวได้อีกต่อไป
         อเมริกาจับมือแคนาดาจูงเม็กซิโกเข้าเป็นกลุ่มการค้าอเมริกาเหนือ  ยุโรปทั้งหลายกระโดดเข้าเป็นกลุ่มอียู  ประเทศเล็กๆทั้งหลายที่อยู่แถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ก็กอดเอวเป็นอาเซียน
         ทุกคนรู้ว่ายุคนี้  สมัยนี้ประเทศที่ใหญ่กว่า เข้มแข็งกว่าจะยกกำลังทหารบุกรุกประเทศที่อ่อนแอกว่าเพื่อกอบโกยทรัพยากรอันมีค่าของประเทศนั้นแบบฟรีๆเหมือนในอดีตไม่ได้อีกแล้ว เพราะจะถุกต่อต้านจากนานาประเทศ
            การทำสงครามในยุคใหม่ก็เลยเปลี่ยนโฉมหน้ากลายเป็นสงครามในรูปแบบการค้าแทน  เวลาเจรจาการค้าประเทศที่เข้มแข็งกว่านั่งเจรจากับประเทศเล็กๆ ปากก็พูดไป มือก็บีบคอไป จะเอาอย่างโน้น จะเอาอย่างนี้ ถ้าไม่ได้ดั่งใจหวังก็จะใช้อำนาจบีบคั้น  กดดันทุกรูปแบบเพื่อให้ประเทศของตนได้ประโยชน์สูงสุด
            นี่เองเป็นความเสียเปรียบของประเทศเล็กๆตลอดมา 
               พอ"ต้มยำกุ้ง ดีซีส"ออกระบาดครั้งแรก  ก็ทำเอาเศรษฐกิจของโลกปั่นป่วนขึ้นทันที ประเทศแถบอาเซียนล้มระเนระนาดกันทุกรูปแบบ เมืองไทยกลายเป็นประเทศที่รู้จักกันทั่วโลก เนื่องจากเป็นต้นเหตุของเหตุการณ์ในครั้งนั้น
              นับตั้งแต่นั้นจนถึงตอนนี้ เศรษฐกิจไทยก็ยังดำดิ่งลงเหว  ไม่มีทีท่าว่าจะฟื้นซักที
            นักเศรษฐศาสตร์ หลายค่าย  หลายสำนัก  ต่างออกมาให้สูตรสำเร็จการแก้ไขเศรษฐกิจไทย ต้องเดินทางโน้น อย่าไปทางนี้ คนนั้นพูดที  คนนี้พูดบ้าง ไปๆมาๆกลายเป็นพายเรือวนอยู่ในอ่าง ไม่ไปไหนซักที
           มองตามประสาคนรู้น้อยอย่างผม บอกตรงๆว่าต้องกลับไปท่องสำนวน"รู้เขารู้เรา  รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง"   ก้มหน้ามองประเทศไทย  จะเห็นพื้นฐานหลักที่ติดตัวคนไทยคือ เกษตรกรรม  ชีวิตของคนไทยตั้งแต่โบราณถึงปัจจุบันอิงแอบกับการทำเกษตรอยู่เสมอ
           แต่พอคำว่า"นิกส์"ถุกกรอกใส่หูคนไทยเมื่อหลายปีก่อน  ทำเอาคนไทยเดินหลงทางเป็นทิวแถว ขายไร่ขายนา ที่เลี้ยงปากเลี้ยงท้องคนทั้งประเทศ  พาเหรดเดินเข้าโรงงานกันเต็มไปหมด  ในใจคิดออกเพียง ทำไร่ทำนามาหลายปี แต่ละปีต้องมานั่งลุ้นนั่งเชียร์ว่าข้าวจะได้มากน้อยเท่าใด  ราคาจะพุ่งเกวียนละเท่าไหร่
            เป็นอยู่อย่างนี้เหนื่อยเหลือเกิน ขอเป็นลุกจ้างมีเงินเดือนประจำดีกว่า  ได้น้อยหน่อยไม่เป็นไร แต่ขอเป็นมนุษย์เงินเดือนเอาไว้ก่อน  พอเข้าอีหรอบนี้ภาคเกษรกรรมของไทยที่อ่อนแออยู่แล้ว ยิ่งสาละวันเตี้ยลงไปอีก  ภูมิปัญญาชาวบ้านเริ่มถูกกลืนหายไปเรื่อยๆ
             พอเศรษฐกิจโลกล่มที โรงงานปิดระนาว อ้าว....สาวโรงงานฉันทนาจะไปไหน  ต้องกลับไปนับหนึ่งทำนาที่บ้านนอกใหม่ พอไปถึงนึกออกว่านาของตนเอาไปขายเสียแล้ว ต้องจำใจเดินเข้าไปเช่านาซึ่งอดีตเป็นของตนแท้ๆ ทำนาเพื่อเลี้ยงชีพ  ภาพอย่างนี้มีให้เห็นกันทั่วประเทศ
            วกกลับมาถึงภาคเกษตรไทยที่เป็นรากแก้วของประเทศ  เราต้องชูภาคเกษตรนี่แหละครับไปสู้สงครามทางการค้ากับประเทศทั้งหลาย  อเมริกายักษ์ใหญ่อาจจะเก่งเรื่องเทคโนโลยี จุดแข็งอยู่ที่ภาคอุตสาหกรรม  ผลิตรถยนต์  ผลิตคอมพิวเตอร์ เครือ่งจักรออกมาขายให้ประเทศอื่นซื้อไปใช้ 
          ไทยเราก็ไม่ต้องไปเดินก้าวตาม เพราะเราไม่ถนัดในเรื่องนี้ ปล่อยให้เค้าทำไป เราก้มหน้าพัฒนาวงการเกษตรของเราไปเรื่อยๆ
           คุณๆครับ เราไม่มีคอมพิวเตอร์ใช้ก็ได้  ไม่มีรถยนต์ขับยังพอไหว  แต่ถ้าไม่มีข้าวกินสงสัยจะไปไม่รอด  
           นักวิเคราห์เศรษฐศาสตร์โลกเค้าส่องกล้องมองไปข้างหน้า ว่าเศรษฐกิจของโลกนั้นเป็นอนิจัง มีทั้งขาขึ้นและขาลง  อเมริกา  ญี่ปุ่นยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจของโลก หลังจากบูมมาาหลายปีผ่านจุด"พีก"อิ่มตัวอย่างเสร็จสรรพ ก็ต้องถึงคราวขาลงกันบ้าง
           ถ้าเป็นสำนวนนวนิยายจีนของมังกรโบราณ"โกวเล้ง"ก็ต้องเจรจาว่า "ถึงช่วงสูงสุดสู่สามัญ"อะไรทำนองนั้น
            เมื่อเศรษฐกิจของโลกกระเทือน ทุกประเทศก็ต้องหันมารัดเข็มขัดกันเป็นทิวแถว  จะจ่ายเงินแต่ละบาท แต่ละเยนหรือดอลลาร์ต้องคิดแล้วคิดอีก  เป็นอย่างนี้ถึงช่วง"ทีมใครทีมัน"กันบ้าง
           หลับตายังนึกออกว่าเมื่อทุกคนเริ่มประหยัด ก็ต้องเริ่มเรียงลำดับความสำคัญในการใช้จ่าย  ไม่มีเงินใครจะบ้าซื้อรถใหม่  คอมพิวเตอร์รุ่นล่าสุดจำใจตัดทิ้ง เหลือสุดท้ายที่ตัดไม่ได้คือต้องซื้ออาหารเข้าปากประทังชีวิต
          ถ้านโยบายทำประเทศไทยให้เป็น"คลังอาหารของโลก"มีการเดินหน้าอย่างจริงจัง อาจจะต้องทำเวิร์กช็อป(สำนวนสุดฮิตปีนี้)กันหลายครั้ง เพื่อดันภาคเกษตรไทยให้ยิ่งใหญ่ระดับโลก ทั้งปลูกผัก ปลูกข้าว เลี้ยงสัตว์ ให้ครอบคลุมทุกกระบวนความ
        ไม่ใช่ปล่อยให้คลานต้วมเตี้ยมเหมือนเต่าแบบตอนนี้
         รับรองว่า ไม่นาน"แสงสีทองจะเริ่มผ่องอำไพ  พวกเราคนไทยจะกลับมายิ่งใหญ่ในแผ่นดิน"

                                                                                                                       กุนซือ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น