วันพฤหัสบดีที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ส้มตำ 13/2/51



สมัยก่อนคนมักเปรียบเปรยว่า อยากมีชีวิตที่ผาสุก ก็ให้ไปกินอาหารจีน  มีเมียญี่ปุ่น บ้านทรงยุโรป ก็พอ เพราะอาหารจีนนั้นเลิศรส ผู้หญิงญี่ปุ่นก็ก็เพียบพร้อมเรื่องดูแลสามีและบ้านช่อง  บ้านทรงยุโรปก็งดงามน่าอยู่  ถ้าได้มาครบทั้งสามสิ่ง ก็นอนตายตาหลับ
                อาหารจีนนั้นเลื่องชื่อมานาน ผู้คนก็ขับขานกันทั่วโลก ชวนใครไปกินโต๊ะจีน รับรองว่าหาคนปฏิเสธได้ยาก  แต่เมื่อโลกเริ่มแคบลงเพราะการสื่อสารที่ทันสมัย ผู้คนเริ่มท่องเที่ยวกันมากขึ้น หูตาเริ่มมองเห็นโลกกว้างขึ้นกว่าเดิม  มุมมองเรี่มเปลี่ยน
                อาหารจีนที่เคยเป็นแชมป์โลก ที่หามใครมาเทียบชั้นได้ยาก ตอนนี้ตำแหน่งเริ่มสั่นคลอน อาหารจากชาติอื่นๆเริ่มโด่งดัง วิ่งมาหายใจรดต้นคอกันเป็นแถว  ตอนนี้เลยต้องมาจัดอันดับทำเนียบกันใหม่
ชั่วโมงนี้อาหารที่ได้ชื่อว่าเป็นอาหารชั้นจตุรเทพของโลกนั้น คืออาหารจีน  อาหารอิตาเลี่ยน อาหารฝรั่งเศส แล้วก็อาหารไทย ของเรา อาหารไทยนั้นได้ชื่อว่ามีการปรับเปลี่ยนพัฒนารสชาติของอาหารจนถูกปากไปทั่วโลก อาหารญี่ปุ่นที่เรียกว่าชาบู  ชาบูพอนำเข้ามายังประเทศไทย โดนโคคา สุกี้ จับมาแปลงโฉมจนโด่งดัง หลังจากนั้นเอ็ม.เค สุกี้ก็คลอดออกมาทีหลัง และพัฒนาจนขยายสาขาไปขายที่ญี่ปุ่น
คนญี่ปุ่นมาชิมสุกี ยากี้สโตล์ไทย ที่มีน้ำจิ้มเป็นตัวชูโรง กินเสร็จโวยวายด่าคนไทยกันยกใหญ่  ว่าของอร่อยแบบนี้ทำไม เพิ่งพามาชิม ปล่อยให้กินสไตล์เจแปนมานมนาน
            ก๋วยเตี๋ยวที่ชื่อเป็นภาษาจีน พอแปลงร่างเข้าเมืองไทย ก็เจอแม่ครัวไทยจับมาแต่งหน้า ทาปาก ตอนนี้ก๋วยเตี๋ยวมีทั้งน้ำตก น้ำใส ต้มยำ สารพัด สารเพ ให้ลิ้มลองตามใจชอบ กินกันไม่รู้จักเบื่อ
            นอกจากต้มยำกุ้ง กับผัดไทยแล้ว ถ้าถามคนต่างชาติว่าอาหารไทยอะไรที่ยูรู้จัก ส่วนใหญ่ก็จะบอกว่า ส้มตำ  ส้มตำเป็นอาหารประจำชาติไปแบบง่ายดาย ไปภาคไหนของประเทศ ก็มีครกขายส้มตำให้เห็นกันทุกที่  เมื่อปี 2533 คุณเทียรี่ เมฆวัฒนา แห่งคาราบาว  แต่งเพลงที่มีเนื้อหากล่าวถึง ส้มตำ ในเพลงชื่อ ปาปาย่า ป๊อก ป๊อก แล้วเพลงก็ดังขึ้นมาทันตาเห็น  ซึ่งต่อมาคำว่า ปาปาย่า ป๊อก ป๊อก นี้เป็นที่รับรู้กันในสังคมว่าหมายถึงส้มตำ แต่มิใช่เป็นคำเรียกส้มตำในภาษาอังกฤษอย่างที่หลายคนเข้าใจ
            มาย้อนรอยดูที่มา ที่ไปของส้มตำ ของไทยแลนด์ ที่ชายกินได้  หญิงกินดี ส้มตำ (Som tam) เป็นอาหารคาวของไทยอย่างหนึ่ง มีต้นกำเนิดไม่แน่ชัด เพราะหาข้อชัดเจนไม่ได้ แต่คาดว่าโดยน่าจะมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของไทยและ ประเทศลาว ส่วนมากจะทำโดยนำมะละกอดิบที่ขูดเป็นเส้น มาตำในครกกับ มะเขือลูกเล็ก ถั่วลิสงคั่ว กุ้งแห้ง พริก และกระเทียม ปรุงรสด้วยน้ำตาลปี๊บ น้ำปลา ปูดองหรือปลาร้า ให้มีรสเปรี้ยว เผ็ด และออกเค็มเล็กน้อย
            จะกินส้มตำให้อร่อย ก็ต้องเสริฟพร้อมกับเพื่อนๆอาทิข้าวเหนียวและไก่ย่าง โดยมีเพื่อนไม่ค่อยสนิทเช้น กะหล่ำปลี หรือถั่วฝักยาว เป็นเครื่องเคียง
            จับส้มตำมาแยกประเภทจะได้ 7 ประเภทใหญ่ๆคือ1.ส้มตำไทย ไม่ใส่ปูและปลาร้า แต่ใส่กุ้งแห้งและถั่วลิสงคั่วแทน รสชาติออกหวานและเปรี้ยวนำ บางถิ่นอาจใส่ปูดองเค็มด้วย เรียกว่า ส้มตำไทยใส่ปู   2.ส้มตำปู ใส่ปูเค็มแทนกุ้งแห้งและถั่วลิสงคั่ว รสชาติออกเค็มนำ 3.ส้มตำปลาร้า ใส่ปลาร้าแทนกุ้งแห้ง นิยมรับประทานกันมากในภาคอีสาน 4.ตำซั่ว ใส่ทั้งเส้นขนมจีนและเส้นมะละกอ นิยมรับประทานกันมากในภาคอีสาน 5.ตำป่า ใส่ผักหลายชนิด เช่น ผักกระเฉด ผักกาดดอง ปลากอบ ถั่วลิสง ถั่วงอก ถั่วฝักยาว รวมถึงหอยแมลงภู่ จะนิยมรับประทานในภาคอีสาน 6.ตำโคราช ใส่เครื่องปรุงผสมระหว่างส้มตำไทยและส้มตำปลาร้า คือใส่ทั่้งกุ้งและปลาร้า 7.ส้มตำไข่เค็ม ใส่เครื่องปรุงผสมระหว่างส้มตำไทยและไข่เค็ม ไม่ใส่ ปูดอง ทำให้  รสชาติ กล่อมกล่อมพอดีเหมาะกับผู้ที่ไม่ชอบส้มตำเผ็ดจัด
            ยุคนายหัวชอบชิมไป  บ่นไปชาวบ้านอย่างเราๆต้องตามกระแส ต้องคุยเรื่องอาหารการกินเป็นหลัก ประเทศชาติเป็นรอง กูรูหลายคนเริ่มแนะว่ายุคนี้เราอาจจะใช้นายกฯคนใหม่ นำทัพอาหารไทยให้ชื่อเสียงขจรไกลในต่างแดน...สาธุ
                                                                                                                        กุนซือ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น