วันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2554

วันเกิดคนดัง



           เมื่อวันอาทิคย์ที่ผ่านมา ในโลกออนไลน์ประโยคหนึ่งที่ผู้คนในโลกออนไลน์พากัน รีทวีตข้อความ ในทวิตเตอร์ มากที่สุดคือประโยค
          "สุขสันต์วันเกิด โนบิ โนบีตะ"
             เด็กสมัยนี้บางคนอาจจะไม่รู้จัก"โนบีตะ"แต่ถ้าคนรุ่น 30 อัพ รับรองว่า รายไหน รายนั้น ต้องนึกเห็นการ์ตูนที่มีเด็กขี้แย ใส่แว่น พร้อมกับแมวคู่หูคือ โดราเอมอน ที่มีกระเป๋าวิเศษ ดึงของแปลกๆออกมาใช้ โลดแล่นในเนื้อเรื่องในการ์ตูนสุดฮิต"โดราเอมอน"เมื่อ 20 กว่าปีก่อน
              หลายคนอาจจะไม่รู้ว่า คุณฟูจิโกะ ฟูจิโอะ ผู้แต่งการ์ตูนโดราเอมอน ที่โด่งดังไปทั่วโลกนั้น   กำหนดคุณสมบัติของโนบิตะ เอาไว้คือ เกิดวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2507 (ความจริงต้องเป็นคุณลุงโนบีตะแล้วนะครับ เพราะอายุปาเข้าไป 47 ปีแล้ว)
             ตามท้องเรื่องโนบีตะเป็นลูกชายคนเดียวของครอบครัวโนบิ มีพ่อชื่อ โนบิ โนบิสุเกะ และแม่ชื่อ โนบิ ทามาโกะ ปกติจะใส่แว่น สวมเสื้อโปโลสีเหลืองหรือแดงปกขาว กางเกงขาสั้นสีน้ำเงิน มีนิสัยขี้แย เป็นคนไม่เอาถ่าน อ่อนแอ ไม่เคยพึ่งพาตนเอง เรียนหนังสือไม่เก่ง สอบได้ 0 คะแนนบ่อยๆ มาโรงเรียนสายประจำ ถูกทำโทษบ่อยครั้ง กีฬาก็ไม่ถนัด แต่เล่นพันด้ายเก่ง และเป็นจอมแม่นปืน งานอดิเรกก็คือนอนกลางวัน กับอ่านการ์ตูน ถือว่าเป็นตัวละครที่ไม่เอาไหน แต่ในอีกด้านหนึ่งเขาก็มีนิสัยที่ดีอยู่มากเช่นกัน เช่น รักสัตว์ ขี้สงสาร รักเพื่อน อารมณ์อ่อนไหว และรักความยุติธรรม ยอมนำตัวเองเข้าไปเสี่ยงอันตรายเพื่อช่วยเพื่อนมนุษย์
           โนบิตะสูง 145 ซม.หนัก 43 กก.ตอนอยู่ป.4 สูง 149 ซม.หนัก 44 กก.ตอนอยู่ป.5 สูง 155 ซม.หนัก 40 กก.



           สำหรับการ์ตูนชุด โดราเอมอน  หรือ โดเรมอน เป็น การ์ตูนญี่ปุ่น แต่งโดย ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ เรื่องราวของหุ่นยนต์แมวหูด้วน ชื่อ โดราเอมอน โดยฟูจิโกะ ฟูจิโอะ ได้กล่าวว่าโดราเอมอนเกิดวันที่ 3 กันยายน ค.ศ. 2112
          นั่งไทม์มิชชีนมาจากอนาคตเพื่อกลับมาช่วยเหลือโนบิตะ เด็กประถมจอมขี้เกียจด้วยของวิเศษจากอนาคต โดราเอมอนเริ่มตีพิมพ์ครั้งแรกในญี่ปุ่นเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2513 โดยสำนักพิมพ์โชงะกุกัง โดยมีจำนวนตอนทั้งหมด 1,344 ตอน
            ต่อมาในวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2540 โดราเอมอนได้รับรางวัล Tezuka Osamu Cultural Prize ครั้งที่ 1 ในสาขาการ์ตูนดีเด่น  อีกทั้งยังได้รับเลือกจากนิตยสารไทม์เอเชีย ให้เป็นหนึ่งในวีรบุรุษของทวีปเอเชีย จากประเทศญี่ปุ่น 
             จากนั้นในวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2551 โดราเอมอนก็ได้รับเลือกให้เป็นทูตสันถวไมตรีเพื่อการประชาสัมพันธ์วัฒนธรรมของประเทศญี่ปุ่น นอกจากนี้บริษัทบันได ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าการ์ตูนที่มีชื่อเสียงของญี่ปุ่น ยังได้ผลิตหุ่นยนต์โดราเอมอนของจริงขึ้นมาในชื่อว่า "My โดราเอมอน" โดยออกวางจำหน่ายครั้งแรกในวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2552
           การ์ตูนโดราเอมอนฉบับหนังสือการ์ตูนภาษาไทย สร้างปรากฏการณ์เป็นที่กล่าวถึงในวงการการ์ตูนเป็นอย่างมาก เริ่มตีพิมพ์ครั้งแรกในช่วงกลางปีพ.ศ. 2524 โดยสำนักพิมพ์ธิดาน้อย ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของสำนักพิมพ์มิตรไมตรี โดยตั้งชื่อการ์ตูนเรื่องนี้ว่า "โดราเอมอน แมวจอมยุ่ง" แปลเป็นภาษาไทยโดย อนุสรณ์ สถิรวัฒน์
         ต่อมาสำนักพิมพ์วิบูลย์กิจก็ได้มีการตีพิมพ์การ์ตูนเรื่องนี้เช่นกัน แต่เลือกใช้ชื่อว่า "โดเรมอน" เพื่อไม่ให้ซ้ำกับทางสำนักพิมพ์แรก ในสมัยนั้นยังเป็นช่วงของหนังสือการ์ตูนที่ยังไม่มีการซื้อลิขสิทธิ์ถูกต้องจากทางญี่ปุ่น ทั้ง 2 สำนักพิมพ์จึงไม่ได้พิมพ์ตอนตามลำดับของต้นฉบับทำให้มีการลงตอนซ้ำกัน โดราเอมอนได้รับความนิยมอย่างมาก
         ทั้ง 2 สำนักพิมพ์จึงแข่งกันทางด้านความถี่ของการออกจัดจำหน่าย จากเดือนละเล่มในช่วงต้น ก็เปลี่ยนเป็นเดือนละ 2 เล่ม จนถึงอาทิตย์ละเล่ม
             สุดท้ายทางสำนักพิมพ์ธิดาน้อย ก็พิมพ์ถึงเดือนละ 3 เล่ม พิมพ์ไม่น้อยกว่า 70,000 เล่มต่อครั้ง ด้วยความถี่ในการพิมพ์ และการไม่มีการจัดลำดับถูกต้องตามต้นฉบับ
             ทำให้ในเวลาเพียง 7-8 เดือนการ์ตูนเรื่องนี้ก็ตีพิมพ์ครบทุกตอนตามต้นฉบับของฟูจิโกะ ฟูจิโอะที่ใช้เวลาเขียนติดต่อกันร่วม 10 ปี
           หลังจากนั้น หนังสือพิมพ์ไทยรัฐได้เห็นความนิยมของโดราเอมอน จึงได้มีการตีพิมพ์การ์ตูนเรื่องนี้ลงเป็นตอนๆ ในแต่ละวันโดยเริ่มวันแรกวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2525 ถือได้ว่าเป็นการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่องแรกที่มีการตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ เนื่องจากต้องการไม่ให้ชื่อซ้ำกับทาง 2 สำนักพิมพ์แรก ไทยรัฐจึงได้ตั้งชื่อใหม่อีกเป็น "โดรามอน เจ้าแมวจอมยุ่ง" ด้วยเหตุนี้เองทำให้คนไทยเรียกชื่อ โดราเอมอน ต่างกันหลายชื่อ
         วันนี้เลยขออนุญาติ ร้องเพลงแฮปปี้ เบิร์ดเดย์  ย้อนหลังให้กับเพื่อนเก่าเมื่อครั้งเยาว์วัยของผม ที่ชื่อ โนบิ โนตะ  ครับผม
                                                                                                              กุนซือ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น