วันอาทิตย์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2554

คนชอบกินเส้น 24/3/2552

          

              ว่ากันว่าในบรรดาอาหารทั้งหลายที่คนไทยถูกปาก ถูกใจนั้น ถ้าจัดอันดับเรียงออกมาให้เห็นรับรองว่า ก๋วยเตี๋ยวจะต้องติด 1 ใน 5 แน่นอน  เพราะกินง่าย สะดวก แถมรสชาติอร่อยถูกลิ้น ถูกปากคนไทย
                ลองเหลียวมองก๋วยเตี๋ยว ที่ชื่อเป็นจีน แต่โดนพี่ไทย นำมาปรับลุค เปลี่ยนโน่น แปลงนี่ แตกกิ่งก้านสาขาออกเป็นหลายประเภท น้ำตก น้ำใส ต้มยำ ฯลฯจนต้นตำรับเดิมมาเห็นต้องร้อง โอ้โห....ไม่นึกว่าคนไทยจะมีหัวคิดสร้างสรรค์ได้ปานนี้
                ย้อยหลังกลับไป สมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ ซึ่งเป็นช่วงที่ไทยมีการติดต่อกับชาวต่างชาติมากมาย และชาวจีนก็ได้นำเอาก๋วยเตี๋ยวเข้ามากินกันในเรือ โดยต้มในน้ำซุป มีการใส่หมู ใส่ผักและเครื่องปรุงเพื่อความอร่อย
                พอพี่ไทยเห็นปุ๊บก็เกิดอาการอยากรู้อยากเห็น ถือว่าเป็นสิ่งที่แปลกใหม่ในยุคนั้น  และขึ้นชื่อว่าคนไทยนั้นถ้าพูดถึงเรื่องอาหารแล้วละก้อ สมัยโบราณนั้นอาหารไทยแต่ละอย่างชอบประดิดประดอย เอาโน่นมาเติมนี่ เปลี่ยนรสชาติใหมไม่ให้น่าเบื่อ แต่งหน้าแต่งตาเสริมสวยใหม่ ให้น่ากิน ทำไม ทำมา เริ่มแพร่หลาย จนกลายเป็นอาหารยอดฮิตตั้งแต่นั้นมา
                พอมาถึงยุคสมัย จอมพล ป.พิบูลย์สงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี เชื่อมั้ยครับว่า ก๋วยเตี๋ยวนั้นดังเหมือนพลุ เพราะกลายเป็นอาหารยอดนิยม ติดลมบนไปแล้ว จนถึงขั้นที่ว่ารัฐบาลได้มีนโยบาย รัฐนิยม ที่สนับสนุนให้ประชาชน บริโภคก๋วยเตี๋ยว โดย ท่านนายกฯ เห็นว่าหากประชาชน หันมาร่วมกันบริโภคก๋วยเตี๋ยว จะเป็นการแก้ไข เศรษฐกิจของชาติในตอนนั้น เพื่อจะได้มีเงินหมุนเวียนในประเทศ ดังคำกล่าวของท่าน นายกฯ ในสมัยนั้นว่า
                "อยากให้พี่น้องกินก๋วยเตี๋ยวให้ทั่วกัน เพราะก๋วยเตี๋ยว มีประโยชน์ต่อ ร่างกาย มีรสเปรี้ยว เค็ม หวานพร้อม ทำเองได้ในประเทศไทย หาได้สะดวกและอร่อยด้วย หากพี่น้องชาวไทยกินก๋วยเตี๋ยวคนละ หนึ่งชามทุกวัน วันหนึ่งจะมีคนกินก๋วยเตี๋ยวสิบแปดล้านชาม ตกลงวันหนึ่งค่าก๋วยเตี๋ยวของชาติไทยหนึ่งวันเท่ากับเก้าสิบล้านสตางค์เท่ากับเก้าแสนบาท เป็นจำนวนเงินหมุนเวียนมากพอใช้ เงินเก้าแสนบาทนั้น ก็จะไหลไปสู่ชาวไร่ ชาวนา ชาวทะเลทั่วกันไม่ตกไปอยู่ในมือใครคนหนึ่งคนใดเพียงคนเดียว และเงินหนึ่งบาทก็มีราคาหนึ่งบาท ซื้อก๋วยเตี๋ยวได้เสมอ ไม่ใช่ซื้ออะไรก็ไม่ได้เหมือนอย่างทุกวันนี้ซึ่งเท่ากับไม่มีประโยขน์เต็มที่ในค่าของเงิน"
                เห็นมั้ยครับ ว่า ดังไม่ดัง  ถึงขั้นเป็นนโยบายของรัฐ มาให้ประชาชีทั้งหลายได้ปฏิบัติ
                ผมเคยนั่งคุยกับรุ่นน้องคนหนึ่งว่า ราคาก๋วยเตี๋ยว ในเมืองเชียงใหม่ ราคาที่น่าเหมาะสมควรจะอยู่เท่าไหร่ เพราะชั่วโมงนี้ร้านก๋วยเตี๋ยวในเมืองเชียงใหม่มากมายเหมือนดอกเห็ด แถมอร่อย มีให้เลือกหลายสไตล์ 
                ถกกันไป ถกกันมา สรุปได้ว่าราคาน่าจะอยู่ที่ 20-25 บาท แต่ถ้าทะลุไปถึง 30 บาท ก็พอรับไหว แต่ปริมาณต้องจุใจ  เพราะค่าครองชีพเชียงใหม่ยังไม่สูงมากมายเหมือนกับกรุงเทพ
                แต่บางร้านนั้นผมเคยเจอมากันตัวเอง รสชาติอร่อยในระดับหนึ่ง แต่เก็บบิลเมื่อไหร่ คนกินต้องสะอึกเมื่อนั้น นึกว่านั่งกินอยู่ที่สยามพารากอน  ก๋วยเตี๋ยวชามละ 30-35 บาท กินได้ประมาณครึ่งอิ่ม  จะต่ออีกชามก็เสียดายตังค์ ครั้นจะสั่งพิเศษ ก็เคยมีประสบการณ์ชามพิเศษกับชามธรรมดา ต่างกันที่ ชามพิเศษดันมีชามรองเท่านั้น นอกนั้นฝาแฝดกับชามธรรมดา
          ที่น่าเจ็บใจคือไปนั่งกินคนเดียว ขอน้ำแก้ว ดันได้น้ำแข็งมาแก้วเล็กๆ ต้องเปิดน้ำขวดเสียเงินเพิ่มอีก 5 บาท เรียกว่าขูดเลือดจากลูกค้าทุกเม็ด ไม่ให้ตกหล่น
                ทุกวันนี้เวลาขับรถผ่านหน้าร้านนี้ ผมมักจะชำเลืองตาดู เห็นอาเฮีย กับอาเจ๊ นั่งตบยุงกันทั้งวัน  เหมือนดังสุภาษิตที่ว่า โลภมาก ลาภจะหาย นั่นแล
                                                                                                                กุนซือ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น