หลายคนอาจจะสับสน ระหว่างความแตกต่างระหว่างพายุชนิดต่างๆ เพราะมีให้เรียกกันหลายชื่อเหลือเกิน ความจริงแล้วพายุนั้นเหมือนกันหมด
มีคนตั้งนิยามให้กับพายุว่าคือ สภาพบรรยากาศที่ถูกรบกวนแบบใด ๆ ก็ตาม โดยเฉพาะที่มีผลกระทบต่อพื้นผิวโลก และบ่งบอกถึงสภาพอากาศที่รุนแรง เวลากล่าวถึงความรุนแรงของพายุ จะมีเนื้อหาสำคัญอยู่บางประการคือ ความเร็วที่ศูนย์กลาง ซึ่งอาจสูงถึง 400 กม./ชม. ความเร็วของการเคลื่อนตัว ทิศทางการเคลื่อนตัวของพายุ และขนาดความกว้างหรือเส้นผ่าศูนย์กลางของตัวพายุ ซึ่งบอกถึงอาณาบริเวณที่จะได้รับความเสียหายว่าครอบคลุมเท่าใด
ถ้าเอาแผนที่โลกมากางออกดู มีพายุหมุนขนาดใหญ่ๆเกิดขึ้นทั่วโลก เขาก็เลยแบ่งโซนแล้วขนานนามให้ใหม่ เพื่อที่เวลามีข่าวออกมาว่าเกิดพายุชนิดนี้ขึ้นแล้ว คนฟังก็หลับตานึกออกว่าเกิดขึ้นมุมไหนของโลกใบนี้
โดยธรรมชาติของพายุนั้น ถ้าเกิดขึ้นหรือเริ่มต้นก่อตัวในทะเล หากเกิดเหนือเส้นศูนย์สูตร จะมีทิศทางการหมุนทวนเข็มนาฬิกา และหากเกิดใต้เส้นศูนย์สูตรจะหมุนตามเข็มนาฬิกา
ถ้ามีพายุเกิดขึ้นแถวทิศตะวันตกของมหาสมุทรแอตแลนติก เช่น บริเวณฟลอริดา สหรัฐอเมริกา อ่าวเม็กซิโก ทะเลแคริบเบียน เป็นต้น รวมทั้งมหาสมุทรแปซิฟิกบริเวณชายฝั่งประเทศเม็กซิโก เขาให้เรียกพายุแบบนี้ว่าพายุเฮอร์ริเคน (hurricane)
แต่ถ้าย้ายข้ามฟากมาเกิดแถวทิศตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ เช่น บริเวณทะเลจีนใต้ อ่าวไทย อ่าวตังเกี๋ย ประเทศญี่ปุ่น รวมถึงคุณ”กฤษณา”นี้ด้วย เขาจะเรียกว่าเป็นพายุไต้ฝุ่น (typhoon)
ถ้ามีคนบอกว่าเกิดพายุพายุไซโคลน (cyclone) แสดงว่าเป็นพายุหมุนที่เกิดในมหาสมุทรอินเดียเหนือ เช่น บริเวณอ่าวเบงกอล ทะเลอาหรับ เป็นต้น แต่ถ้าพายุนี้เกิดบริเวณทะเลติมอร์และทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศออสเตรเลีย จะเรียกว่า พายุวิลลี-วิลลี (willy-willy)
บางคนอาจจะสงสัยว่า แล้วพายุโซนร้อนกับพายุดีเปรสชั่นหายไปไหน อธิบายได้ว่าถ้าเปรียบเทียบเฮอร์ริเคน ไต้ฝุ่น ไซโคลน เป็นพายุ”ตัวแม่” โซนร้อนกับดีเปรสชั่นก็คือ”ตัวลูก”ที่อ่อนกำลังลงมาแล้วนั่นเอง
ส่วนอีกพายุหนึ่งที่เห็นแล้วก็สยอง แต่โชคดีที่คนไทยเห็นแค่ในหนังไม่เคยเจอะกันแบบ”ตัวจริง เสียงจริง”คือพายุทอร์นันโด
พายุทอร์นาโด (tornado) เป็นชื่อเรียกพายุหมุนที่เกิดในทวีปอเมริกา มีขนาดเนื้อที่เล็กหรือเส้นผ่าศูนย์กลางน้อย แต่หมุนด้วยความเร็วสูง หรือความเร็วที่จุดศูนย์กลางสูงมากกว่าพายุหมุนอื่น ๆ ก่อความเสียหายได้รุนแรงในบริเวณที่พัดผ่าน เกิดได้ทั้งบนบก และในทะเล
สุดท้ายคือมรสุม ซึ่งแปลได้ง่ายๆว่าก็ คือ ลมประจำฤดู เป็นลมแน่ทิศและสม่ำเสมอ สาเหตุใหญ่ ๆ เกิดจากความแตกต่างระหว่างอุณหภูมิของพื้นดินประเทศไทยอยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุม 2 ชนิด คือ ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้เกิดฝนชุก ในช่วงหน้ามรสุมของทุกปี
ที่ตั้งของเมืองไทยนั้น พอหันซ้ายก็เจอไต้ฝุ่น พอหันขวาก็เหลือบไปเห็น พายุไซโคลน
ถอยหลังไปเมื่อปี 2008 พายุไซโคลน“นากีส”ถล่มพม่าเสียยับเยิน แต่ไทยรอดหวุดหวิด
ต้องเงยหน้เบอกฟ้าว่า ถ้าจะคิดถึงกัน อยากมาทักทายประจำปี ก็ขอเป็นแค่หางๆ ก็แล้ว เพราะยังพอรับได้
อย่ามา”ทั้งตัวและหัวใจ” เหมือนกับที่พม่า
เนื่องจากตอนนี้คนไทยทั้งประเทศกำลังปวดหัวสารพัดเรื่อง เงินทองก็หายาก แถมยังต้องมาเบื่อหน่ายกับ”กีฬาสี”ที่เล่นกันไม่เลิกจนประเทศจะล่มจมอยู่แล้ว
ถ้ามาเจอเด้งที่ 3 เข้าอีก เห็นทีประโยคที่ว่า”ยิ้มสยาม”อาจจะสาบสูญไปจากโลกใบนี้ก็ได้
กุนซือ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น