เวลาอยากรู้ว่าตัวเองอายุมากหรือไม่มาก มีดัชนีหนึ่งที่ใช้วัดค่าตรงนี้ได้ดีพอสมควร เพราะโลกหมุนเร็วกว่าเดิม แถมยังแคบเพราะระบบการสือสารข้อมูล บางคนก็เลยเผลอนึกว่าโลกยังหมุนเป็นปรกติ ทำงานงกๆๆๆๆ กว่าจะรู้ตัวว่า ทำงานมาเป็นสิบปี โดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว
ว่ากันว่าหลังจากเรียนจบแล้วเริ่มทำงาน โอกาสที่เพื่อนฝูงสมัยเรียนจะมานักเจอกันแบบพร้อมกันโดยถ้วนหน้านั้นเริ่มเป็นเรื่องที่ยากขึ้นเรื่อยๆ
บางคนเรียนจบ ก็แยกย้ายกันทำมาหากิน กว่าจะมาเจอกันอีกที ใช้เวลา 10 กว่าปีแทบจำหน้ากันไม่ได้ ผมเองโชคดีที่เป็นโรค”ติดเพื่อน” เพื่อนอยู่ไหน ฉันขอไปแจมด้วย ช่วงเวลาที่ผ่านมาก็เลยพบปะเพื่อนฝูงไม่ได้ขาด แต่ก็ยังเป็นกลุ่มเล็กๆ แต่โอกาสที่จะเจอกันแบบครบเซ็ต นั้นเรียกว่านานที ปีหน
ช่วงหลังเวลาเจอกันครบเซ็ทเมื่อไหร่ เริ่มมีประโยคคำถามวางโครมลงกลางโต๊ะว่า”สงสัยว่าพวกเราเริ่มแก่เฒ่ากันแล้วกระมัง” บางคนเถียงแบบหัวชนฝา บอกว่าชีวิตฉันหยุดตรง”วัยรุ่นตอนปลาย”เท่านั้น ไม่มีแก่ไปกว่านี้
แต่สุดท้ายก็ต้องยอมรับว่า “ อายุแม้เป็นตัวเลข แต่ก็สำคัญ” เพราะหลังจกวิเคราะห์ตามสภาพความเป็นจริงแล้ว ก็ต้องก้มหน้ายอมรับ ด้วยประโยคที่ว่า” เมื่อก่อนเวลาพบปะกันพร้อมหน้า เรียกว่ามาเกือบทั้งรุ่น ส่วนใหญ่จะเป็นงานอะไร”
งานนี้ต้องหลับตา นึกถึงอดีต ก่อนผุดคำตอบที่ว่า”งานแต่งงานเพื่อน”
คำถามต่อมา “ไปงานแต่งงานเพื่อนครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่”
เชื่อมั้ยครับ นึกเท่าไหร่ ก็ยังนึกไม่ออก เพราะว่ามันนาน ถึงนานมาก
คำถามกวนใจยังตามมาอีกว่า แล้วชั่วโมงนี้ เวลาเพื่อนร่วมรุ่นเจอกันมากที่สุดงานไหน
คำตอบสุดท้าย”งานศพ”
เริ่มเห็นสัจธรรมแล้วครับว่า “วัยรุ่นตอนปลาย”เป็นสิ่งไม่จีรัง ยั่งยืน หมดไปพร้อมๆกับเข็มวินาทีกระดิก ติ๊กๆๆๆๆ อยู่ทุกวี่ ทุกวัน
เพื่อนผมบางคน เกิดมาเป็นโรคเดียวกับผม คือ”ติดเพื่อน” ช่วงไหนไม่ได้เจอเพื่อน ไม่ได้สังสรรค์เฮฮาปาร์ตี้กับเพื่อนฝูง รู้สึกหงุดหงิดในหัวจิต หัวใจ
ช่วงหลังเพื่อนฝูงแต่ละคนก็มุ่งแต่ทำงาน การเงินเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เพราะต้องอยู่ให้รอดในยุคเศรษฐกิจแบบนี้ เวลาที่จะมาพะปะสังสรรค์กันทุกสัปดาห์เหมือนกับอดีต เริ่มเลือนหายไปเรื่อยๆ
“แม็ค” เจ้าของสโลแกน “เพื่อนอยู่ตรงไหนไม่เคยบ่น ฉันจะตรงไปหา..” เจอสภาพแบบนี้นานๆเข้า เกิดอาการ “อดได้แต่ทนไม่ไหว” วันหนึ่งแม็คตัดสินใจโทรศัพท์หา”ทนายโหน่ง” ประธานรุ่นผม ส่งเสียงตามสาย ที่ไม่ต้องแปลความหมายว่าต้องการอะไร
“เฮ้ย...ช่วงนี้ไม่มีงานศพที่ไหนบ้างหรือว่ะ”
เป็นการสื่อสารแบบไม่อ้อมค้อม อีกต่อไป แนวประชดประชันว่า ตกลงจะไม่มาเจอะ มาเจอกันอีกแล้วใช่ไหม ถ้าไม่ใช่”งานศพ”
เพื่อนฝูงหลายคน เลยหยิบคำถามอมตะนี้ เป็นต้นแบบ เวลาจะชวนเพื่อนมาสังสรรค์ เจอกันพร้อมแบบพร้อมหน้า นัยว่า หยิบโทรศัพท์ถามเพื่อนคนไหน รับรองว่า มี”นัดหมาย”เกิดขึ้นทันที เพราะแต่ละคน ก็ไม่อยากไปเจอกันใน”งานศพ” พบกันที่ร้านเหล้ายังดีกว่า
แต่สุดท้าย ก็หนีไม่พ้นสุดท้ายก็ต้องเจอข่าวเศร้า เมื่อเพื่อนรักคนหนึ่ง ที่เรียนหนังสือกันตั้งแต่เด็ก เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง
เนื้อที่หมด เลยต้องขอยกไปต่อวันพรุ่งนี้ ว่าที่จั่วหัวไว้ข้างบนคอลัมน์หมายถึงอะไร
กุนซือ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น