วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

โรงเรียนของหนู บนยอดภู



ตะลุย บ้านแม่หืด
                ถือเป็นภารกิจทุกปีของชมรมผู้สื่อข่าวจังหวัดเชียงใหม่ ที่จะต้องบุกป่า ขึ้นดอย เพื่อนำสิ่งของไม่ว่าจะเป็นผ้าห่ม เครื่องกันหนาว เครื่องอุปโภค บริโภค ไปให้กับชาวบ้านในถิ่นทุรกันดาร โดยมีนโยบายหลักที่ตั้งไว้ คือต้องห่างไกลจากความเจริญ และยากจน แต่ละปีนักข่าวทั้งหลายจึงแปลงร่างเป็นรพินทร์ ไพรวัลย์ กันปีละหน
                ปีนี้ได้พันธมิตรเพิ่มคือ สมาคมศิษย์เก่าวิทยาลัย-มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่  ซึ่งมีคุณพี่เศวต เวียนทอง นายกสมาคม โดดเข้ามาเป็นเจ้าภาพร่วม เรียกว่าคนละไม้ คนละมือ ช่วยกันระดมหาสิ่งของเพื่อช่วยเหลือคนที่กำลังประสพกับภัยหนาวที่ว่ากันว่า ปีนี้จะหนาวที่สุดในรอบ 30 ปี โดยปักธงดีเดย์เคลื่อนพลวันที่ 4 ธันวาคม 2553
                ผมในฐานะ แม่บ้านของชมรมฯคล้องแขน คุณพี่ฟ้าฮ่าม เดินทางขึ้นไปสำรวจเส้นทางรวมถึงสอบถามความต้องการของชาวบ้านว่าต้องการอะไรบ้าง เพื่อให้กลไกตลาดเดินทางได้อย่างถูกต้อง
                ตามกฎ..... ดีมานด์เท่ากับซัพพลาย
                สตาร์ทรถ ล้อหมุนออกจากเมืองเชียงใหม่ ขับรถไปประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่งเพื่อไปพบกับ พ.ต.ท.สมชาย  พุ่มพวง สารวัตรสืบสวน สภต.บ่อหลวง ที่บริเวณลานสวนสน อ.ฮอด โดยท่านสารวัตรซึ่งถือได้ว่าเป็นแม่งานในครั้งนี้ เป็นคนประสานงานพร้อมข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับทริปนี้
          แถมยังอาสาเป็นคนขับรถ นำรถส่วนตัว พาผมกับคุณพี่ฟ้าฮ่าม บุกป่า ขึ้นดอยด้วยตัวเอง
          งานนี้สารวัตรใหญ่นำ  เหยี่ยวข่าวข้างหลังเลยต้องนั่งสงบเพื่อส่งใจเชียร์
                เส้นทางก็เหมือนกับทริปแจกผ่าห่มทุกปีคือ เป็นหลุม เป็นบ่อ ข้ามลำน้ำ ลำห้วย และเลาะไปตามสันเขา งานนี้ต้องใช้พาหนะที่เหมาะกับภารกิจคือ รถโฟร์วิล  รถปิ๊กอัพ หรือมอเตอร์ไซต์เท่านั้น
                ส่วนทางเลือกที่เหลือมี 2 อย่างคือ  เดินกับขี่ม้า
                ผมนั่งหัวสั่นหัวคลอน ประมาณเกือบสองชั่วโมง ก็ถึงเป้าหมาย หมู่บ้านแม่หืด ซึ่งเป็นหมู่บ้านอยู่กลางป่า และตั้งอยู่กลางหุบเขา  ไม่ต้องบอกว่าพอตะวันลับ อากาศจะหนาวเหน็บแค่ไหน
                ถึงแม้ว่าบ้านแม่หืด ทั้งหมู่บ้านจะไม่มีไฟฟ้าใช้ แต่อย่างน้อย ก็ยังโชคดี ที่มีแหล่งน้ำสำรองไว้ใช้ได้ตลอดปี เพราะชาวบ้านทำอ่างเก็บน้ำเพื่อรองรับน้ำฝน บริเวณข้างๆหมู่บ้าน เพื่อนำไปใช้ในหน้าแล้ง
                ส่วนหน้าฝน ไม่ต้องถามถึงว่า ชีวิตจะเป็นอย่างไร
                เข้าทำนองว่า คนในห้ามออก  คนนอกห้ามเข้า
                เพราะเส้นทางที่ทุรกันดาร เมื่อถึงฤดูฝน ก็จะกลายเป็นถนนโคลนทันที รถราไม่สามารถสัญจรได้ ก็ต้องเดินออกจากป่ามาซื้อเสบียง นับก้าว นับรถระยะทาง สิริรวมทั้งหมดประมาณ 10 กิโลเมตร
                นึกภาพแล้วก็ต้องบอกว่าเหนื่อยแทน  ผมนั่งรถเข้าไปยังยอมรับว่าค่อนข้างลำบาก ถึงแม้ว่าถนนจะสมบุกสมบันแค่ไหน แต่อย่างน้อยก็เป็นถนนแห้ง ไม่เป็นโคลน เหมือนกับหน้าฝน ที่ถ้าจะฝืนเอารถวิ่ง รับรองว่ามีลื่นไหลตกเหวกันเป็นแถวแน่นอน
          คิดกันเล่นๆว่า สมมุติเราเป็นชาวบ้านแม่หืด พอเข้าหน้าฝน ต้องเดินออกไปซื้อเสบียง  ขาไปเดินย่ำโคลน ลุยเลนกันออกไป กว่าถึงจะถึงถนนใหญ่ อย่างเราๆท่านๆ ถึงแม้ว่าจะเข้าฟิตเนสกันทุกวัน รับรองว่า เดินกันอย่างน้อยครึ่งวัน
                อีตอนขากลับพร้อมเสบียงที่ต้องแบกหามอีกหละ เอาสองเข้าไปคูณได้เลยว่าลำบากขนาดไหน
                หลังจากไปสำรวจมา ถ้าใครมาถามผมว่า ถ้าเดินเท้าเข้าไปในบ้านแม่หืด ไกลแค่ไหน
                ตอบสั้นๆได้ว่า ไกลประมาณ  84  เหนื่อยเท่านั้นเอง
          โดยมีอัตรามาตราส่วน 1 เหนื่อยเท่ากับวิ่งรอบ 1 สนามฟุตบอล
               
                                                                                                                                กุนซือ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น