วันอาทิตย์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ขึ้นดอย สอยบุญ 25/11/2551



            วันเสาร์ที่ผ่านมา ชมรมผู้สื่อข่าวจังหวัดเชียงใหม่ ที่นำทัพโดยคุณพี่ ตุ้ย  ตอแย เดินทางไปแจกผ้าห่ม รวมถึงเครื่องอุปโภค บริโภค ให้กับหมู่บ้านที่ยากไร้ ปีนี้ปักธงเดินหน้าไปแจกที่ บ้านม่อนปิ่น อ.ฝาง
                คราวนี้เปลี่ยนเข็มทิศจากเดิมที่มักจะลงใต้ ไปแจกแถวอำเภอ อมก๋อย มาเป็นทิศเหนือขึ้นมาที่อำเภอฝางแทน เนื่องจากงานนี้มีเจ้าภาพร่วมคือ ชมรมผู้สื่อข่าวและโรงพยาบาลฝาง
                นอกเหนือจากแจกเครื่องกันหนาวแล้ว ปีนี้ค่อนข้างจะพิเศษ ที่บรรดาสมาชิกทั้งหลายลงความเห็นว่า ควรจะทำสนามฟุตบอลให้กับเด็กในหมู่บ้านได้ออกกำลังกาย งานนี้นักข่าวฝ่ายกีฬาของทางเชียงใหม่นิวส์ ขอรับอาสาเป็นหน้าเสื่อ ดำเนินงานเอง
                บ่ายโมง วันเสาร์ ชาวคณะไปถึงโรงเรียน ต.ช.ด. อาโอยาม่า   พิธีกรรมคลอดสนามฟุตบอลก็เริ่มทันที ถึงแม้จะไม่มีวิศวกร เข้ามาควบคุมการก่อสร้าง  แต่ทริปนี้อุดมไปด้วยวิศว-กะกันเนืองแน่
                มาตราส่วนทั้งหลาย ไม่ต้องใช้ระบบเมตริก  แต่หันมาใช้ระบบธรรมชาติ คือ นับก้าว เวลาจะแบ่งเส้นครึ่งสนามก็แค่เดินจากโกล์ไปหาโกล์ ตรงข้าม แล้วหาร 2
                อัตราส่วนความผิดพลาด การันตีว่าไม่เกิน 1 ก้าวครึ่งแน่นอน
                หลังโรยปูนขาวเป็นเส้นสนามเสร็จสรรพเรียบร้อย  ก็มาถึงฟุตบอลคู่เปิดสนาม  วิธีการแบ่งทีม เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศป่าเขา  เราใช้ระบบโบราณเข้ามาเป็นตัวช่วย โดยให้เด็กจับคู่กันแล้วเป่า ยิ้ง ฉุบ แพ้อยู่ฝั่งโน้น  ชนะข้ามมาฝั่งนี้
                ส่วนสมาชิกของชมรม ก็ใช้ระบบเดียวกัน เพียงแต่เพิ่มออฟชั่นอีกเล็กน้อย คือ ใช้อายุมาเกี่ยวข้อง  คนหนุ่มจับคู่กับคนหนุ่ม  วัยฉกรรจ์ตอนปลายแบบผมจับคู่กับผู้มีอายุ
                แบ่งเสร็จสรรพ จะได้ทีมฟุตบอลในระบบแกงโฮ๊ะ  ผสมปนเปกันตั้งแต่อายุ 7-8 ขวบ ไปจนถึงสี่สิบกว่า และทีมมีผู้เล่นประมาณ 12 คน ในขนาดสนามฟุตบอล 7 คน
                หลับตานึกออกมั้ยครับว่า  หลังกรรมการเป่านกหวีดเริ่มการแข่งขัน คน 20 กว่าคน วิ่งไล่แย่งบอลกันในสนามขนาด 7 คน จะออกมาในรูปไหน
                ลูกฟุตบอลกลิ้งไปไหน  จะเห็นกลุ่มคน ซึ่งคล้ายฝูงปลาปิรันย่า  กระโจนเข้าไปจิก เข้าไปตะครุบ  แย่งกันอุตลุต  ผมเขียนท้าให้เลยว่าต่อให้ โรนัลดินโญ่  ที่ว่าข้อเท้าอัจฉริยะ พลิกบอลได้ตลอด  มาเจอกันวันนั้น รับรองว่าไปไม่เป็น แน่นอน
                20 นาทีผ่านไป ระบบสังขารของร่างกายเริ่มออกมาเตือน  ผมเริ่มไม่สนใจจมูก หันมาหายใจทางปากแทน เสียงหอบเป็นระยะ  แต่ในขณะที่เด็กเล็กๆทั้งหลาย ไม่รู้ว่ากินกระทิงแดงมากี่ขวด  ยังวิ่งป๋อ ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย
                อวสานของผมมาเร็วกว่าที่คิด  ครั้งหนึ่งลูกบอลหลุดออกไปข้างสนาม  นาทีนั้นไม่รู้ว่าความคิดมาจากไหน ผมนึกว่าตัวเองเป็นรอรี่  ดีแล็ป  กองกลางจอมทุ่มไกล ของสโต๊ค ซิตี้    คว้าบอลขึ้นมาตะโกนบอกให้เด็กๆทั้งหลายไปรวมตัวอยุ่ที่หน้าประตู  กะว่าจะทุ่มบอลโค้ง เข้าไป เพื่อให้เด็กๆแย่งกันทำประตู
                ถอยมาทำระยะ ก่อนวิ่งเข้าไปทุ่ม จังหวะที่แอ่นตัวทุ่มบอลนั้น เหมือนมีสายฟ้าฟาดเปรี้ยงที่เอว และหลัง  ผมรู้ตัวอีกที นั่งทรุดอยู่กับพื้น กล้ามเนื้ออักเสบทันที
                บอลยังไม่เลิก แต่ผมงานเลิกอย่างเป็นทางการ ค่อยๆ เดินกระเพลกออกจากสนาม  กลายเป็นบุรุษพิการ ประจำคณะ  หลายคนเดินเข้ามาปลอบแต่ฟังแล้วทะแม่งๆว่า มันเป็นเรื่องของสังขาร  หาใช่เรื่องแปลกไม่
                มองโลกในแง่ดี ก็ต้องบอกว่า ไปแจกผ้าห่มปีนี้ นอกจากจะได้บุญแล้ว  เรายังได้ยามาอีก 1 หลอด
                ภาษาการตลาดเค้าบอกว่า “WIN-WIN” ครับผม...แฮ่ม
                                                                                                                กุนซือ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น