วันจันทร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2558
อาหารสุดฮิต AEC
เริ่มนับถอยหลังเข้ามาเรื่อยๆ เมื่อเรากำลังจะก้าวเข้าสู่ AEC หรือ Asean Economics Community คือการรวมตัวของชาติใน Asean 10 ประเทศ โดยมี ไทย, พม่า, ลาว, เวียดนาม, มาเลเซีย, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, กัมพูชา, บรูไน เพื่อที่จะให้มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน
จะมีรูปแบบคล้ายๆ กลุ่ม Euro Zone นั่นเอง จะทำให้มีผลประโยชน์, อำนาจต่อรองต่างๆ กับคู่ค้า
ได้มากขึ้น และการนำเข้า ส่งออกของชาติในอาเซียนก็จะเสรี ยกเว้นสินค้าบางชนิดที่แต่ละประเทศอาจจะขอไว้ไม่ลดภาษีนำเข้า
ถ้าเออีซี คลอดเมื่อไหร่ หน้าตาของภูมิภาคแถบนี้จะเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม ผู้คนจะเดินทางไปมา หาสู่ ค้าขายกันมากขึ้น แบบไร้พรมแดน
ผมไปอ่านบทความของ กูรู อาเซียน อย่าง ดร.เกษมสันต์ วีระกุล ซึ่งผมแอบเป็นแฟนคลับท่านมานาน ชอบเรื่องราวที่เกี่ยวกับอาเซียนที่ ดร.เกษมสันต์ นำเสนอ เพราะนำเสนอง่าย เข้าใจเร็ว
และที่สำคัญที่สุดคือ....สนุก
ดร.เกษมสันต์ เขียนบทความเรื่องอาหาร การกิน ของผู้คนในแถบอาเซียน ที่ขึ้นชื่อ ลือชา ใครไปเที่ยวประเทศไหน ต้องหาทางไปรับประทาน ประหนึ่งเป็นอาหารประจำชาติ
แต่ละประเทศก็มีทีเด็ด ของตัวเองแตกต่างกัน วันนี้เลยขออนุญาต หยิบยกมานำเสนอต่อ เผื่อใครจะไปเที่ยวเพื่อนบ้านแถวอาเซียนแล้ว จะได้รู้ว่า เป้าหมายที่จะต้องไปลิ้มลองรสชาติ อาหารประจำถิ่นที่...พลาดไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง!
เริ่มจากสยามเมืองยิ้ม คงไม่ต้องสงสัยว่าเมนูที่ขึ้นชื่อ เป็นที่รู้จักของคนต่างชาติคือ ต้มยำกุ้ง (Tom Yum Kung) ด้วยส่วนผสมสมุนไพรมากมาย ไม่ว่าจะเป็น พริก, ข่า, ตะไคร้, ใบมะกรูด ฯลฯ ปรุงรสน้ำแกงสไตล์เผ็ด ร้อน มีรสเปรี้ยวจากมะนาว ที่มาของเมนูจานนี้ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่ากำเนิดในปีใด แต่สันนิษฐานว่าเข้ามาพร้อมกับการรับข้าวเจ้ามาจากอินเดีย ทำให้กับข้าวเปลี่ยนไป เริ่มมีน้ำแกงเข้ามาหลากหลาย ทั้งแกงน้ำข้นใส่กะทิแบบอินเดียและแกงน้ำแบบจีน
ต้มยำกุ้ง
มาถึงบ้านพี่เมืองน้อง สปป.ลาว คือสลัดหลวงพระบาง (Luang Prabang Salad) เมนูนี้ได้รับอิทธิพลมาจากอาหารฝรั่งเศส เครื่องปรุงหลักคือผักน้ำ ซึ่งคาดว่าชาวฝรั่งเศสนำมาปลูกในสปป.ลาว นำมายำรวมกับ มะเขือเทศ แตงกวา ผักกาดหอม ผักชี ไข่ต้ม ถั่วลิสง หอมเจียว กระเทียมเจียว หมูสับรวน น้ำสลัดทำจาก น้ำมันสลัด น้ำมะนาว น้ำปลา ซีอิ๊วขาว น้ำตาลทราย เติมไข่แดงบดเพื่อให้ข้น
สลัดหลวงพระบาง
มาถึงอาหารจากแดนโสร่ง ซึ่งได้แก่ หล่าเพ็ด (Lahpet) เป็นอาหารยอดนิยมของเมียนมา ขาดไม่ได้ในโอกาสพิเศษหรือเทศกาลสำคัญ ๆ เมนูนี้จัดเป็นอาหารว่างคล้ายกับยำเมี่ยงบ้านเรา เป็นใบชาหมักทานกับเครื่องเคียง เช่น กระเทียมเจียว ถั่ว งาคั่ว กุ้งแห้ง ขิง มะพร้าวคั่ว
หล่าเพ็ด
หลายคนอาจจะไม่เคยรู้ว่า อาม็อก (Amok) เป็นอาหารคาวยอดนิยมและเป็นอาหารประจำชาติของประเทศกัมพูชา มีลักษณะคล้ายห่อหมกบ้านเรา มีส่วนผสมของเนื้อปลา เครื่องแกง และกะทิ เป็นอาหารที่นิยมรับประทานในเทศกาลสงกรานต์
อาม็อก
มาถึงเวียดนาม เรื่องนี้เดากันไม่ยากครับว่า อาหารที่ขึ้นชื่อของเวียดนาม คือ ปอเปี้ยะเวียดนาม (Nem : Vietnamese Spring Rolls) เป็นหนึ่งในอาหารพื้นเมืองของเวียดนาม แผ่นปอเปี๊ยะทำจากแป้งข้าวเจ้า ห่อด้วยเป็นไก่ หมู กุ้ง โดยนำมาห่อรวมกับผักสมุนไพรอีกหลายชนิด เช่น สะระแหน่ ผักกาดหอม รับประทานคู่กับน้ำจิ้มหวาน โดยจะมีถั่วคั่ว แครอทซอย ไชเท้าซอย
ปอเปี๊ยะเวียดนาม
ถ้าพูดถึงแดนเสือเหลือง มาเลเซีย ก้อต้องดั้นด้นไปทาน นาซิ เลอมัก (Nasi Lemak) ซึ่งนิยมทานเป็นอาหารเช้า เป็นข้าวเจ้าหุงกับกะทิ เติมใบเตยหอมลงบนข้าว หรือเครื่องเทศ ได้แก่ ขิงและตะไคร้ เพื่อกลิ่นหอม แล้วนำไปนึ่ง การรับประทานแบบพื้นบ้านจะห่อด้วยใบตอง ใส่แตงกวาหั่น ปลาทอด ถั่วลิสง ไข่ต้ม และซัมบัลซึ่งเป็นซอสมีลักษณะคล้ายน้ำพริก รสเผ็ด อาจทานคู่กับไก่ทอด หรือผักบุ้งผัด หมึกผัดพริก หอยแครง แตงกวาดอง แกงเนื้อกับกะทิ เป็นต้น
นาซิ เลอมัก
กาโด-กาโด (Gado-gado) เป็นอาหารยอดนิยมของประเทศอินโดนีเซีย คำว่ากาโดนี้ ในภาษาอินโดนีเซีย หมายถึง ยำ ซึ่งประกอบไปด้วยผัก ทั้งผักสด ผักต้ม และผักลวก รวมถึงธัญพืชหลายชนิด นอกจากนี้ยังมีเต้าหู้ ไข่ต้มสุก ราดด้วยซอสถั่วที่คล้ายกับซอสสะเต๊ะ ซึ่งปรุงด้วย กะปิ ถั่วลิสงบด กะทิ น้ำตาลโตนด พริกแดง กระเทียม กะทิ มะขามเปียก เวลาทานทานคู่กับข้าวเกรียบทอด
กาโด-กาโด
มาถึงแดนเมืองลอดช่อง ซึ่งไม่มีลอดช่องขาย ประเทศ สิงคโปร์ อาหารประจำถิ่นได้แก่ ลักซา (Laksa) เป็นอาหารดั้งเดิมของชาวเปอรานากัน กลุ่มลูกครึ่งมลายู-จีนที่สร้างวัฒนธรรมผสมผสานแบบ
ใหม่ขึ้นมาโดยเอาส่วนดีระหว่างจีนและมลายูมารวมกัน ลักซาเป็นก๋วยเตี๋ยวต้มยำใส่กะทิ มีลักษณะคล้ายข้าวซอยของไทย โดยเส้นก๋วยเตี๋ยวจะมีลักษณะคล้ายเส้นขนมจีน และมีส่วนผสมของกุ้งแห้ง พริก กุ้งต้ม และหอยแครง เหมาะสำหรับคนที่ชอบรับประทานอาหารทะเล อย่างไรก็ตาม ลักซามีทั้งแบบที่ใส่กะทิ และไม่ใส่กะทิ แต่แบบที่ใส่กะทิจะเป็นที่นิยมมากกว่า
ลักซา
อัมบูยัต (Ambuyat) เป็นอาหารพื้นเมืองของบรูไน ทำจากแป้งของปาล์มสาคู กวนจนสุกจนเหนียวเป็นแป้งเปียก เวลาทานใช้อุปกรณ์คล้ายตะเกียบ (ต่างจากตะเกียบตรงปลายอีกข้างจะติดกัน) จุ่มแล้วม้วนก้อนแป้ง ทานเป็นคำ ความอร่อยอยู่ที่การทานคู่กับซอสเปรี้ยวที่ทำจากผลลำพู หรือน้ำพริกทุเรียนดอง และกับข้าวอื่นๆ ได้แก่ ผัดใบมัน ผักบุ้งผัดกะปิ ปลาย่าง เนื้อย่าง ฯลฯ ในอดีตใช้เป็นอาหารเมื่อขาดแคลนข้าว
อัมบูยัต
สุดท้ายและท้ายสุด อาโดโบ (Adobo) เป็นอาหารฟิลิปปินส์ที่ได้รับความนิยม ปรุงจากเนื้อสัตว์หรืออาหารทะเลหมักด้วยน้ำส้มสายชูและกระเทียม ทอดในน้ำมันจนเป็นสีน้ำตาล บางครั้งจะเรียกอาโดโบว่าสตูฟิลิปปินส์ กินกับข้าวทั้งที่บ้านและสำหรับเหมาะสำหรับพกไว้เป็นเสบียงอาหารระหว่างการเดินทาง เพราะเป็นอาหารที่เก็บได้นานโดยไม่ต้องแช่เย็น อาหารชนิดนี้เก็บได้นาน น่าจะมาจากน้ำส้มสายชูที่เป็นเครื่องปรุงหลักยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย
อาโดโบ
จากนี้ไป ใครจะแปกเป้ไปเที่ยวไหนในแถบอาเซียน อย่าลืมเขียนแปะไว้ข้างฝาว่า เป้าหมายข้างหน้า ต้องไปลิ้มลอง โดยไม่ต้อรอ...เชลล์ชวนชิม!
กุนซือ
p_kiti@hotmail.com
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น