วันจันทร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2558
อาหารสุดฮิต AEC
เริ่มนับถอยหลังเข้ามาเรื่อยๆ เมื่อเรากำลังจะก้าวเข้าสู่ AEC หรือ Asean Economics Community คือการรวมตัวของชาติใน Asean 10 ประเทศ โดยมี ไทย, พม่า, ลาว, เวียดนาม, มาเลเซีย, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, กัมพูชา, บรูไน เพื่อที่จะให้มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน
จะมีรูปแบบคล้ายๆ กลุ่ม Euro Zone นั่นเอง จะทำให้มีผลประโยชน์, อำนาจต่อรองต่างๆ กับคู่ค้า
ได้มากขึ้น และการนำเข้า ส่งออกของชาติในอาเซียนก็จะเสรี ยกเว้นสินค้าบางชนิดที่แต่ละประเทศอาจจะขอไว้ไม่ลดภาษีนำเข้า
ถ้าเออีซี คลอดเมื่อไหร่ หน้าตาของภูมิภาคแถบนี้จะเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม ผู้คนจะเดินทางไปมา หาสู่ ค้าขายกันมากขึ้น แบบไร้พรมแดน
ผมไปอ่านบทความของ กูรู อาเซียน อย่าง ดร.เกษมสันต์ วีระกุล ซึ่งผมแอบเป็นแฟนคลับท่านมานาน ชอบเรื่องราวที่เกี่ยวกับอาเซียนที่ ดร.เกษมสันต์ นำเสนอ เพราะนำเสนอง่าย เข้าใจเร็ว
และที่สำคัญที่สุดคือ....สนุก
ดร.เกษมสันต์ เขียนบทความเรื่องอาหาร การกิน ของผู้คนในแถบอาเซียน ที่ขึ้นชื่อ ลือชา ใครไปเที่ยวประเทศไหน ต้องหาทางไปรับประทาน ประหนึ่งเป็นอาหารประจำชาติ
แต่ละประเทศก็มีทีเด็ด ของตัวเองแตกต่างกัน วันนี้เลยขออนุญาต หยิบยกมานำเสนอต่อ เผื่อใครจะไปเที่ยวเพื่อนบ้านแถวอาเซียนแล้ว จะได้รู้ว่า เป้าหมายที่จะต้องไปลิ้มลองรสชาติ อาหารประจำถิ่นที่...พลาดไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง!
เริ่มจากสยามเมืองยิ้ม คงไม่ต้องสงสัยว่าเมนูที่ขึ้นชื่อ เป็นที่รู้จักของคนต่างชาติคือ ต้มยำกุ้ง (Tom Yum Kung) ด้วยส่วนผสมสมุนไพรมากมาย ไม่ว่าจะเป็น พริก, ข่า, ตะไคร้, ใบมะกรูด ฯลฯ ปรุงรสน้ำแกงสไตล์เผ็ด ร้อน มีรสเปรี้ยวจากมะนาว ที่มาของเมนูจานนี้ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่ากำเนิดในปีใด แต่สันนิษฐานว่าเข้ามาพร้อมกับการรับข้าวเจ้ามาจากอินเดีย ทำให้กับข้าวเปลี่ยนไป เริ่มมีน้ำแกงเข้ามาหลากหลาย ทั้งแกงน้ำข้นใส่กะทิแบบอินเดียและแกงน้ำแบบจีน
ต้มยำกุ้ง
มาถึงบ้านพี่เมืองน้อง สปป.ลาว คือสลัดหลวงพระบาง (Luang Prabang Salad) เมนูนี้ได้รับอิทธิพลมาจากอาหารฝรั่งเศส เครื่องปรุงหลักคือผักน้ำ ซึ่งคาดว่าชาวฝรั่งเศสนำมาปลูกในสปป.ลาว นำมายำรวมกับ มะเขือเทศ แตงกวา ผักกาดหอม ผักชี ไข่ต้ม ถั่วลิสง หอมเจียว กระเทียมเจียว หมูสับรวน น้ำสลัดทำจาก น้ำมันสลัด น้ำมะนาว น้ำปลา ซีอิ๊วขาว น้ำตาลทราย เติมไข่แดงบดเพื่อให้ข้น
สลัดหลวงพระบาง
มาถึงอาหารจากแดนโสร่ง ซึ่งได้แก่ หล่าเพ็ด (Lahpet) เป็นอาหารยอดนิยมของเมียนมา ขาดไม่ได้ในโอกาสพิเศษหรือเทศกาลสำคัญ ๆ เมนูนี้จัดเป็นอาหารว่างคล้ายกับยำเมี่ยงบ้านเรา เป็นใบชาหมักทานกับเครื่องเคียง เช่น กระเทียมเจียว ถั่ว งาคั่ว กุ้งแห้ง ขิง มะพร้าวคั่ว
หล่าเพ็ด
หลายคนอาจจะไม่เคยรู้ว่า อาม็อก (Amok) เป็นอาหารคาวยอดนิยมและเป็นอาหารประจำชาติของประเทศกัมพูชา มีลักษณะคล้ายห่อหมกบ้านเรา มีส่วนผสมของเนื้อปลา เครื่องแกง และกะทิ เป็นอาหารที่นิยมรับประทานในเทศกาลสงกรานต์
อาม็อก
มาถึงเวียดนาม เรื่องนี้เดากันไม่ยากครับว่า อาหารที่ขึ้นชื่อของเวียดนาม คือ ปอเปี้ยะเวียดนาม (Nem : Vietnamese Spring Rolls) เป็นหนึ่งในอาหารพื้นเมืองของเวียดนาม แผ่นปอเปี๊ยะทำจากแป้งข้าวเจ้า ห่อด้วยเป็นไก่ หมู กุ้ง โดยนำมาห่อรวมกับผักสมุนไพรอีกหลายชนิด เช่น สะระแหน่ ผักกาดหอม รับประทานคู่กับน้ำจิ้มหวาน โดยจะมีถั่วคั่ว แครอทซอย ไชเท้าซอย
ปอเปี๊ยะเวียดนาม
ถ้าพูดถึงแดนเสือเหลือง มาเลเซีย ก้อต้องดั้นด้นไปทาน นาซิ เลอมัก (Nasi Lemak) ซึ่งนิยมทานเป็นอาหารเช้า เป็นข้าวเจ้าหุงกับกะทิ เติมใบเตยหอมลงบนข้าว หรือเครื่องเทศ ได้แก่ ขิงและตะไคร้ เพื่อกลิ่นหอม แล้วนำไปนึ่ง การรับประทานแบบพื้นบ้านจะห่อด้วยใบตอง ใส่แตงกวาหั่น ปลาทอด ถั่วลิสง ไข่ต้ม และซัมบัลซึ่งเป็นซอสมีลักษณะคล้ายน้ำพริก รสเผ็ด อาจทานคู่กับไก่ทอด หรือผักบุ้งผัด หมึกผัดพริก หอยแครง แตงกวาดอง แกงเนื้อกับกะทิ เป็นต้น
นาซิ เลอมัก
กาโด-กาโด (Gado-gado) เป็นอาหารยอดนิยมของประเทศอินโดนีเซีย คำว่ากาโดนี้ ในภาษาอินโดนีเซีย หมายถึง ยำ ซึ่งประกอบไปด้วยผัก ทั้งผักสด ผักต้ม และผักลวก รวมถึงธัญพืชหลายชนิด นอกจากนี้ยังมีเต้าหู้ ไข่ต้มสุก ราดด้วยซอสถั่วที่คล้ายกับซอสสะเต๊ะ ซึ่งปรุงด้วย กะปิ ถั่วลิสงบด กะทิ น้ำตาลโตนด พริกแดง กระเทียม กะทิ มะขามเปียก เวลาทานทานคู่กับข้าวเกรียบทอด
กาโด-กาโด
มาถึงแดนเมืองลอดช่อง ซึ่งไม่มีลอดช่องขาย ประเทศ สิงคโปร์ อาหารประจำถิ่นได้แก่ ลักซา (Laksa) เป็นอาหารดั้งเดิมของชาวเปอรานากัน กลุ่มลูกครึ่งมลายู-จีนที่สร้างวัฒนธรรมผสมผสานแบบ
ใหม่ขึ้นมาโดยเอาส่วนดีระหว่างจีนและมลายูมารวมกัน ลักซาเป็นก๋วยเตี๋ยวต้มยำใส่กะทิ มีลักษณะคล้ายข้าวซอยของไทย โดยเส้นก๋วยเตี๋ยวจะมีลักษณะคล้ายเส้นขนมจีน และมีส่วนผสมของกุ้งแห้ง พริก กุ้งต้ม และหอยแครง เหมาะสำหรับคนที่ชอบรับประทานอาหารทะเล อย่างไรก็ตาม ลักซามีทั้งแบบที่ใส่กะทิ และไม่ใส่กะทิ แต่แบบที่ใส่กะทิจะเป็นที่นิยมมากกว่า
ลักซา
อัมบูยัต (Ambuyat) เป็นอาหารพื้นเมืองของบรูไน ทำจากแป้งของปาล์มสาคู กวนจนสุกจนเหนียวเป็นแป้งเปียก เวลาทานใช้อุปกรณ์คล้ายตะเกียบ (ต่างจากตะเกียบตรงปลายอีกข้างจะติดกัน) จุ่มแล้วม้วนก้อนแป้ง ทานเป็นคำ ความอร่อยอยู่ที่การทานคู่กับซอสเปรี้ยวที่ทำจากผลลำพู หรือน้ำพริกทุเรียนดอง และกับข้าวอื่นๆ ได้แก่ ผัดใบมัน ผักบุ้งผัดกะปิ ปลาย่าง เนื้อย่าง ฯลฯ ในอดีตใช้เป็นอาหารเมื่อขาดแคลนข้าว
อัมบูยัต
สุดท้ายและท้ายสุด อาโดโบ (Adobo) เป็นอาหารฟิลิปปินส์ที่ได้รับความนิยม ปรุงจากเนื้อสัตว์หรืออาหารทะเลหมักด้วยน้ำส้มสายชูและกระเทียม ทอดในน้ำมันจนเป็นสีน้ำตาล บางครั้งจะเรียกอาโดโบว่าสตูฟิลิปปินส์ กินกับข้าวทั้งที่บ้านและสำหรับเหมาะสำหรับพกไว้เป็นเสบียงอาหารระหว่างการเดินทาง เพราะเป็นอาหารที่เก็บได้นานโดยไม่ต้องแช่เย็น อาหารชนิดนี้เก็บได้นาน น่าจะมาจากน้ำส้มสายชูที่เป็นเครื่องปรุงหลักยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย
อาโดโบ
จากนี้ไป ใครจะแปกเป้ไปเที่ยวไหนในแถบอาเซียน อย่าลืมเขียนแปะไว้ข้างฝาว่า เป้าหมายข้างหน้า ต้องไปลิ้มลอง โดยไม่ต้อรอ...เชลล์ชวนชิม!
กุนซือ
p_kiti@hotmail.com
วันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2558
เรื่องจีนๆ
เมื่อเศรษฐกิจโลกเกิดอาการเดี้ยงพร้อมกันทั่วโลก ประเทศไทยเราเลยโดนหางเลขตามไปด้วย โดยเฉพาะภาคส่งออกของไทยที่ยังโงหัวไม่ขึ้น เราเลยต้องกลับมาหารายได้จากการท่องเที่ยวเข้ามาทดแทน เพราะเป็นอาวุธเด็ดที่เป็นแชมป์โกยรายได้เข้าประเทศไทยมาตั้งแต่อดีต
นักเที่ยวจีน ณ.นาทีนี้กลายเป็นลูกค้าหลัก เพราะเงินหยวนแน่นปึ๊ก แถมนักเที่ยวชาวมังกรทั้งหลายก็ชอบเดินทางมาเที่ยวสยามเมืองยิ้ม ยิ่งเป็นเทศกาลวันหยุดของจีน ภาพนักท่องเที่ยวชาวจีนหลั่งไหลมาเที่ยวไทยจนล้นทะลักกลายเป็นภาพปรกติ ที่เราๆท่านๆเห็นจนชินตา
เชียงใหม่เองก็เป็นจุดหมายปลายทางยอดฮิตของนักเที่ยวจีน อาจจะเนื่องจากค่าครองชีพถูก อาหารอร่อย ผู้คนอารมณ์ดี และที่สำคัญที่สุด เสียงลือเสียงเล่าอ้างจากบรรดานักท่องเที่ยวจีนที่มาเที่ยวแดนล้านนา แล้วกลับไปหอบความประทับใจขับขานผ่านทางสังคมออนไลน์แดนมังกร ทำให้เชียงใหม่เนื้อหอมสำหรับนักเที่ยวจีนจนถึงทุกวันนี้
เคยมีหลายคนมาถามผมว่า ช่วงเศรษฐกิจซบแบบนี้ ถ้าจะลงทุน ควรจะลงทุนด้านไหน
นั่งนึกอยู่นานตอบได้ประโยคสั้นๆว่า ลองทำมาค้าขายอะไรก้อได้ ที่เกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยวจีนดู..น่าจะเวิร์คที่สุด ณ.บัดนาว
เพราะ มองภาพรวมแล้วปริมาณนักท่องเที่ยวจีนที่จะเข้ามาในเมืองไทย คงจะไม่"ยุบ"ในช่วงเวลาอันสั้นนี้
เขียนแปะข้างฝาว่า นักท่องเที่ยวจีนยังจะเป็นลูกค้าชั้นดีของเราไปอีกนาน แซงหน้าบรรดามะริกันชน หรือยุโรป ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักในอดีตของเรา
เราลองมาดูตัวเลขว่า นักท่องเที่ยวจีนนั้น หรูหรา อู้ฟู่ มากน้อยแค่ไหน ยามที่เหินฟ้าออกไปเที่ยวต่างแดน
การสำรวจข้อมูลการเดินทางของนักท่องเที่ยวชาวจีนโดย Hotels.com (Chinese International Travel Monitor หรือ CITM) เผยว่านักท่องเที่ยวชาวจีนเที่ยวอย่างหรูหราขึ้น
ผลสำรวจที่น่าสนใจอีกอย่างจากรายงานปีนี้คือ 10 % ของนักท่องเที่ยวชาวจีนที่ใช้เงินจำนวนมากที่สุดในการท่องเที่ยวต่างประเทศนั้นมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยสูงถึง 73,770.66 บาท (13,800 หยวน) ต่อวัน (รวมค่าห้องพักแล้ว)
ซึ่งมากกว่านักท่องเที่ยวชาวจีนทั่วไปกว่า 4 เท่า โดยนักท่องเที่ยวจีนทั่วไปมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 17,796.10 บาท(3,324 หยวน) ต่อวันเท่านั้น
อย่างไรก็ตามค่าใช้จ่ายดังกล่าวกลับดูเล็กน้อยไปเลยเมื่อเทียบกับการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวชาวจีนอีก 5 % ที่ใช้จ่ายมากถึง 6 เท่าของค่าเฉลี่ยการใช้จ่ายทั่วไป คือ 111,703.74 บาท หรือ 20,896 หยวน แสดงให้เห็นถึงนักท่องเที่ยวระดับใหม่ซึ่งก็คือกลุ่มนักท่องเที่ยว “ซุปเปอร์ ลักซ์ชัวรี่” นั่นเอง
ผลสำรวจยังพบอีกว่านักท่องเที่ยวชาวจีนที่คุ้นเคยกับเทคโนโลยี ชื่นชอบการจองห้องพักออนไลน์ การใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อค้นหาและจองห้องพักสำหรับการท่องเที่ยวต่างประเทศกลายเป็นเรื่องปกติของนักท่องเที่ยวจีนไปแล้ว
ในขณะเดียวกัน อัตราการใช้สมาร์ทโฟนเพื่อวางแผนและจองห้องพักพุ่งทะยานเป็นอย่างมากใน 1 ปีที่ผ่านมา
ผลสำรวจปีนี้เผยว่านักท่องเที่ยวชาวจีนกว่า 80 เปอร์เซ็นต์วางแผนทริป ของพวกเขาผ่านระบบออนไลน์โดยใช้สมาร์ทโฟน, คอมพิวเตอร์ และแล็ปท๊อป
ซึ่งในปีที่แล้วมีเพียง 53 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น นักท่องเที่ยวชาวจีนจำนวนกว่าครึ่ง ใช้แอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนในการวางแผนและจองห้องพัก ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่มีเพียง 17 เปอร์เซ็นต์
ดูตัวเลขแล้วถือว่าเป็นเม็ดเงินมหาศาล ถ้าใครได้นักเที่ยวจีนเป็นลูกค้าขาประจำ หลับตาก้อเห็นเงินหยวนลอยไป ลอยมาอยู่ตรงหน้า
งานนี้นักลงทุนคนไหน ใครออกตัวก่อน รับรองว่า...มีชัยไปกว่าครึ่ง!
ปิดท้ายด้วยเกร็ดความรู้แบบจีนๆ สำหรับคนที่ชอบกินโต๊ะจีน คนไทยหลายคนอาจจะเกาหัวสงสัยมานานว่า เวลากินโต๊ะจีนทำไมเสิร์ฟเนื้อก่อน ทำไมเสิร์ฟข้าวทีหลัง มาก็อิ่มแล้ว
หรือแม้กระทั่งเอามาทำไม ไม่ชอบเลย อยากรู้มั้ยครับว่า ว่าทำไมการเลี้ยงโต๊ะจีน ถึงมีลำดับการเสิร์ฟอาหารเช่นนั้น เขาวิสัชนาว่า
ลำดับการเสิร์ฟอาหารบนโต๊ะจีน สืบเนื่องมาจากการรับประทานอาหารของชาวจีน ที่นิยมรับประทานอาหารตามลำดับ ดังนี้
กับแกล้มหรือออเดิร์ฟกินเล่นรอจานหลัก อาจจะเป็นจานเย็นหรือร้อนก็ได้
ซุปน้ำข้น มีเนื้อสัตว์ ซึ่งถือว่าเป็นอาหารจานพิเศษ เช่น หูฉลาม เป๋าฮื้อ
อาหารต่าง ๆ ที่มีรสอาหารหลากหลาย ซึ่งการเรียงลำดับอาหารที่ดี จะทำให้ผู้รับประทานไม่รู้สึกเลี่ยน จานหลักอาหารประเภทเนื้อสัตว์ หมู ไก่ เป็ด
จานหลักอาหารประเภทปลา ที่ชาวจีนนิยมนำมากินในโต๊ะจีน เพราะปลาในภาษาจีนจะพ้องกับคำว่า “หยู” ที่แปลว่า ล้นเหลือ
อาหารประเภทซุป ส่วนใหญ่จะวางหลังอาหารประเภทเนื้อสัตว์ เพื่อจะได้คล่องคอ
ข้าว เสิร์ฟมาที่หลัง เนื่องจากคนจีนถนัดกินกับข้าวกับสุรามากกว่า
ข้าวจึงมักจะสั่งมากินตอนท้าย แบบว่ากินข้าวก่อนจะกลับบ้านของหวานหรือผลไม้นั้น ถูกเพิ่มในโต๊ะจีน เพื่อให้ครบทั้งของคาวของหวานในการจัดโต๊ะจีนนั้น
หากเจ้าภาพนำอาหารที่แปลกและดี เช่น หูฉลาม เป๋าฮื้อ ปลิงทะเล หมูหัน เป็ดปักกิ่ง รังนก ฯ ซึ่งเป็นของที่มีราคาแพงมาเสิร์ฟในงาน นับว่าเป็นการให้เกียรติอย่างสูงกับแขกรับเชิญ ผู้มาร่วมงานทุกคน
ณ.ชั่วโมงนี้ต้องต้องเข้าใจคนจีนให้ครบทุกองศามากขึ้นกว่าเดิมครับ
เพราะคุณคือ...ลูกค้ารายหย่ายยยยย!
จ้ายเจี้ยน...แล้วพบกันใหม่ครับทุกท่าน
กุนซือ
p_kiti@hotmail.com
วันจันทร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2558
แท็กซี่มิเตอร์ ที่เชียงใหม่
เห็นข่าวทะเลาะเบาะแว้งระหว่างแท็กซี่ ที่สนามบินเชียงใหม่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพราะสาเหตุมีการเปิดประมูลที่จอดรถรับส่ง ภายในสนามบิน เมื่อมีการประมูลก็ต้องมีสองฝ่ายคือ ฝ่ายที่ชนะการประมูลคือ บริษัท คาร์เรนทัล เชียงใหม่ และฝ่ายที่ผิดหวังคือสหกรณ์นครล้านนาเดินรถ จำกัด จนกลายเป็นเรื่องเป็นราวทะเลาะเบาะแว้ง ปรากฏไปตามสื่อ
เรื่องประท้วง หรือเรื่องขัดประโยชน์ ค่อยมาว่ากันวันหลังครับ วันนี้ขออนุญาตคุยกันเรื่องแท็กซี่มิเตอร์ ที่เปิดบริการในเชียงใหม่ก่อน
ก็รู้ๆอยู่ครับว่าคนเชียงใหม่นั้นนิยมเดินทางโดยรถส่วนตัว
ไม่ว่าจะเป็นรถเก๋ง หรือจักรยานยนต์ ถ้าจะใช้รถบริการรับส่งสาธารณะ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นสองแถวหรือว่าสี่ล้อแดง รวมถึง ตุ๊กๆ
ส่วนแท็กซี่มิเตอร์ ที่เปิดให้บริการในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่นั้นส่วนใหญ่จะไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าไหร่
ลูกค้าหลักของแท็กซี่มิเตอร์ทั้งหลาย ก็เลยเป็นนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ
ดังนั้น ตลาดหลักของแท็กซี่ มิเตอร์ คือ สนามบินเชียงใหม่
ผมเองเวลาเดินทางออกนอกพื้นที่ ส่วนใหญ่ก็มักจะใช้บริการบรรดานกเหล็กโลว์คอสต์ ทั้งหลายเนี่ยแหละครับ เพราะประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายไม่สูงเหมือนเมื่อก่อน
เวลาบินกลับมาที่เชียงใหม่ โดยส่วนตัวก็ไม่อยากจะเป็นภาระใคร ที่ต้องขับรถมารับ ก็เลยใช้บริการแท็กซี่มิเตอร์ จากสนามบินเป็นหลัก เพราะง่ายและไม่ต้องรอนาน เดินทางได้ทันที
ช่วงก่อน เวลาเรียกใช้บริการแท็กซี่มิเตอร์ ก็จะต้องเสียค่าธรรมเนียมเรียกรถจากสนามบิน 50 บาท จ่ายเสร็จสรรพก็สะพายเป้กระโดดขึ้นแท็กซี่ได้เลย คนขับเขาก้อจะกดมิเตอร์ คิดตามระยะทาง สนนราคาที่จ่ายประจำจากสนามบินเชียงใหม่มาถึงบ้านผม ก็ประมาณ 180 บาท
แต่ช่วงหลัง เกิดปรากฏการณ์ขึ้นมาใหม่ เวลาเรียกใช้แท็กซี่ มิเตอร์จากสนามบิน มีเจ้าหน้าที่ที่ติดต่อลูกค้าอยู่ประตูทางออก จะถามพิกัด จุดหมายปลายทาง และแจ้งราคาเหมาให้ทราบ
ซึ่งราคาจากเดิมที่ผมเคยจ่าย 180 บาท กลายเป็นราคา 300 บาท
มีให้เลือกสองอย่าง คือ ไป กับ ไม่ไป
ผมเองเจอครั้งแรกถึงกับหงุดหงิด บอกปัดปฏิเสธ เพราะมองว่าเป็นการมัดมือชก หลับตาคิดว่าถ้าเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือนักท่องเที่ยวต่างถิ่น เขาไม่รู้ว่าพิกัดอยู่ตรง แล้วโดนราคาเหมาแบบนี้ เขาจะรู้ว่าราคานี้เป็นธรรมได้อย่างไร
หลังจากบอกปัด ในใจคิดว่าเดี๋ยวไปรอรถแท็กซี่ ที่วิ่งเข้ามาส่งผู้โดยสารที่จะเดินทางออกจากสนามบินเชียงใหม่ก็ได้ อาจจะรอนานหน่อย แต่รู้สึกสบายใจกว่า ต้องมาโดนราคาเหมา
รออยู่นานพอสมควร กว่าจะมีรถแท็กซี่ ที่มาส่งผู้โดยสาร ที่ประตูทางเข้า
พอผู้โดยสารลงจากรถ ผมรีบเดินเข้าไปใช้บริการต่อทันที
เชื่อหรือไม่ครับ เกิดปรากฏการณ์ อะเมซซิ่ง ไทยแลนด์ ขึ้นมาอีกหน
คนขับ หันมาบอกว่า "รับไม่ได้ครับ"
ผมถามว่า ทำไมเหรอ ก็ใช้บริการตามปรกติ
คนขับตอบสั้นๆว่า"เขาไม่ให้รับ" แล้วบึ่งรถออกไปทันที
ผมเลยต้องมึนตึบ ว่า"เขา" นั้นคือใคร จนทุกวันนี้ยังไม่มีคำตอบ
แต่วันนั้นคำตอบสุดท้ายคือ.....
เดินแบกเป้ กลับมาตายรัง ยอมจ่ายไป 300 บาท เพื่อจะได้กลับบ้าน
นั่งแท็กซี่กลับบ้าน นั่งไป คิดไป ดันไปคิดถึง ดอน คาลิโอเน่ แห่ง ก็อดฟาเธอร์ ได้อย่างไร ไม่ทราบสาเหตุ
ตั้งแต่นั้นมา เลยต้องทำใจ ลงเครื่องปุ๊บ สะพายเป้เหมือนเดิม
แต่เพิ่มเติมคือ ควักตังค์ 300 บาท เตรียมไว้เลย....รับรองไม่ผิดหวัง
ช่วงหลังเวลาเรียกใช้บริการแท็กซี่มิเตอร์ นั่งไป ก้ออยากสะกิดถามพี่คนขับแท็กซี่่ว่า....
"เอ่อ...พี่ครับ เมื่อไหร่พี่จะถอดป้ายมิเตอร์ที่ติดอยู่บนหลังคาออกซักทีหละครับ ผมว่ามันมี...เหมือนไม่มีนะครับ"
กุนซือ
p_kiti@hotmail.co
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)