วันจันทร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2558

ญี่ปุ่นเข้าคิว




ชั่วโมงนี้ประเทศที่นักท่องเที่ยวชาวไทยพาเหรดกันเข้าไปท่องเที่ยวมากที่สุด เห็นจะไม่มีที่ไหนเกินแดนปลาดิบ ประเทศญี่ปุ่น หลังจากที่รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดไฟเขียวให้คนไทยเข้าไปเที่ยวได้แบบไม่ต้องขอวีซ่า
กระแสสะพายเป้ โดดขึ้นเครื่องบินตระเวณแดนซามูไร ก็ฮอตฮิตขึ้นมาทันที ตัวเลขนักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางเข้าญี่ปุ่นตอนนี้เพิ่มขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว และยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลง
งานนี้ตรงตามวัตถุประสงค์ของพี่ยุ่นเค้าครับ เพราะหลังจากเจอภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาอย่างต่อเนื่อง เค้าก็ต้องเริ่มมองหาหางแก้ไขวิกฤติทางด้านการเงิน รายได้อย่างหนึ่งที่ไหลมาเป็นกอบเป็นกำ คงจะไม่มีอะไรมาง่ายและเร็วกว่ารายได้จากการท่องเที่ยว
พี่ยุ่นคงเหลียวซ้าย มองขวามานาน แล้วมาสะดุดตรงนักท่องเที่ยวไทย ที่มีชื่อเสียงกระฉ่อนระดับโลกว่า ถึงแม้จะเป็นประเทศเล็กๆ แต่เป็น"เล็กดี รสโต"
นักท่องเที่ยวไทยเหยียบไปที่ไหน รับรองว่า"ช๊อปปิ้งกระจายยยย.."
ซื้อแบบไม่ลังเล ซื้อแบบไม่งอแง เห็นปุ๊บซื้อปั๊บ กลับมาถึงโรงแรมบางทียังแปลกใจว่า"ตรูซื้อมาทำไม" อะไรทำนองนั้น
การบินไทย สายการบินแห่งชาติ ยังต้องใช้เครื่องบิน A380 เครื่องบินโดยสารที่ใหญ่ที่สุดในโลกตอนนี้มาบิน เพื่อรองรับกับปริมาณนักเที่ยวชาวไทยทั้งหลายจะได้ไปสัมผัสกับแดนซากุระ
มีเรื่องขำๆที่เล่าต่อกันมาว่า ที่สนามบินคันไซ ทางสนามบินจัดให้เครื่องของการบินไทยได้จอดงวงสุดท้ายมาตลอด เวลาเดินในเทอร์มินอล ผู้โดยสารไทยก็ต้องเดินไกลกว่าสายการบินอื่นเค้า
ทีนี้พอคนไทยแห่เข้าไปเที่ยวญี่ปุ่นมากๆเข้า บรรดาทัวร์ทั้งหลายก็ส่งเสียงไปที่สนามบิน ขอให้เปลี่ยนเครื่องการบินไทยมาจอดงวงใกล้ๆหน่อยได้ป่าว นักท่องเที่ยวจะได้สบายไม่ต้องเดินไกล  สนามบินคันไซก็ใจดี"โอเค้..จัดไป"


พอการบินไทยมาจอดใกล้ๆ ลงเครื่องปุ๊บ เดินไปเอากระเป๋าได้ใกล้ๆลูกทัวร์ทั้งหลายก็สุขใจ  แต่ได้ไม่นานเท่าไหร่ ก็มีเสียงโวยวายไปทางสนามบินคันไซ ให้ย้ายการบินไทยกลับมางวงสุดท้ายเหมือนเดิม
คนร้องเรียนทั้งหลายไม่ใช่ใครที่ไหน บรรดาร้านค้าที่อยู่ในสนามบินนั่นเอง เพราะตลอดทางเดินจะมีร้านค้าต่างๆตั้งดักให้ผู้โดยสารช๊อปปิ๊ง พอคนไทยจอดงวงแรก ลงปุ๊ปไปเอากระเป๋าได้เลย ร้านค้าทั้งหลายก็ยอดขายตกฮวบ
ชาติอื่นไม่เป็นไร แต่ขอชาติไทยชาติเดียว ที่ต้องให้เดินไกล ผ่านร้านค้าต่างๆ รับรองว่าเงินเยนสะพัดทุกร้าน
สมศักดิ์ศรีฉายา"ไทยช๊อปแชมป์"ที่ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย
อย่างหนึ่งที่เราจะเห็นจนชินตาเวลาไปญี่ปุ่นคือ การเข้าคิวครับ ไปทางไหนมีแต่คนเข้าคิว เป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่แย่งกัน ไม่มีเบ่ง ร้านอาหารเล็กๆคนก็ต่อคิวกันแถวยาวเหยียด เป็นภาพที่น่าดู ผมเองยังคิดเลยว่า ถ้าเป็นเมืองไทยร้านไหนมีคนต่อคิวเป็นระเบียบแบบนี้ ร้อยทั้งร้อยๆคนไทยก็ต้องคิดว่า "ร้านนี้สงสัยมีเมนูทีเด็ด คนถึงแห่กันมาเข้าคิวขนาดนี้" แต่เผอิญญี่ปุ่นประชากรเยอะ 127 ล้านคน ประมาณสองเท่าของบ้านเรา
ดังนั้นภาวะแย่งกันอยู่ แย่งกันกินเลยเป็นปัญหาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
ลองหลับตาว่า ถ้าคนญี่ปุ่นไม่มีวินัย เวลาเลิกงาน ผู้คนไหลออกมาจากตึกเหมือนกองทัพมด เดินเบียดกันไปซื้อข้าวเย็นกัน แย่งกันซื้อ เพื่อจะรีบกลับบ้าน ผมว่ารับรองมีชกต่อย เหยียบกันตายแน่
ผมเคยไปเดินเล่นแถวย่ายช๊อปปิ้งนัมบะ เมืองโอซากา เห็นภาพถนนยาวเหยียด ผู้คนเดินกันแน่นทั้งถนน แน่นแค่ไหน ประมาณว่าถ้ายืนเฉยๆเนี่ย ร่างกายอาจจะเคลื่อนไหวเดินหน้าไปได้เพราะว่าฝูงชนพาไป
เริ่มเข้าใจชีวิตปลากระป๋องตราสามแม่ครัว ตั้งแต่บัดนั้นเป้นต้นมา


ช่วงหลังๆเราๆท่านๆ ชอบด่านักท่องเที่ยวจีนว่า เวลามาเที่ยวเมืองไทยแล้วไร้วินัย สร้างความวุ่นวายปั่นป่วนไปทั่ว  เวลาเช่ารถมาขับ อยากจะเลี้ยวตอนไหนก็เลี้ยว ถือว่าเป็นการสร้างสีสรรให้กับท้องถนนในเมืองไทย ให้คนไทยตื่นตัวอยู่เสมอ
เวลาเข้าร้านอาหารไหนก็ส่งเสียงดังไม่เกรงใจคนอื่น แถมยังเลอะเทอะเสริมเข้ามาอีก
เรื่องนี้ก็ต้องเข้าใจว่า ประเทศเค้าประชากรเยอะ ถึง..เยอะมากกกก
แถมประเทศใหญ่ พื้นที่อาณาเขตก็กว้างใหญ่ไพศาล วัฒนธรรมแต่ละมณฑล ก็แตกต่างกัน แถมลักษณะของคนประเทศเขาก็ออกจะแนว"จริงจังแค่ไหน แค่ไหนเรียกจริงจัง"
ดังนั้นก็เลยต้องส่งเสียงดังบ้าง เพื่อแสดงให้เห็นว่า...ซินเซีย
เหมือนคนบ้านเราไปเที่ยวญี่ปุ่นนั่นแหละครับ บางทีเราก็ทำผิดแบบไม่รู้ตัว เพราะไม่ได้ศึกษาวัฒนธรรมของเขามาก่อน ยิ่งตอนนี้คนไทยแห่กันไปญุี่ปุ่น
เหมือนเป็น"เบาหวานเพราะกินอิชิตัน แล้วเสี่ยตัน..พาไปเที่ยวปลอบใจ"
คือดูทรงแล้วเหมือนไปฟรี...เต็มทุกไฟล์ท  ย่านช๊อปปิ้งตามเมืองใหญ่ๆของญี่ปุ่น ถ้าคุณไปเดินแล้วไม่ได้ยินเสียงภาษาไทย ผมว่าคุณอาจจะไปผิดประเทศ
ด้วยเหตุที่วัฒนธรรมที่แตกต่างกัน บางครั้งนักท่องเที่ยวไทยเรายังคุยโทรศัพท์มือถือในรถไฟใต้ดินญี่ปุ่น ซึ่งเค้าจะถือว่าเสียมารยาท เวลาเดินขึ้นบันไดเลื่อนเราก็ยืนกันเต็มทั้งสองด้าน ทั้งที่เราต้องยืนชิดติดด้านขวา เพื่อด้านซ้ายจะต้องเว้นไว้ ให้คนที่รีบเร่ง


เราชอบซื้ออาหารแล้วเดินไป กินไป ซึ่งคนของเค้าจะไม่ทำ เค้าจะยืนกินให้เสร็จแล้วค่อยเดิน คนไทยบางคนเห็นผู้หญิงญี่ปุ่นเค้าใส่ชุดกิโมโน ก้อวิ่งโร่เข้าไปถ่ายคู่กับเค้าทันที โดยไม่มีถามเขาก่อนว่าเขาจะอนุญาตให้ถ่ายคู่ไหม  ถือว่าผิดมารยาทมากฯลฯ
เรื่องนี้ก็ต้องเรีนรู้กันไป ที่สำคัญอย่าเพิ่งด่าพี่จีนมากนัก
เดี๋ยวจะโดนพี่จีนย้อนเกล็ดเอามั้งว่า"เออ..อยากด่า ด่าไป อย่าให้ลื้อไปญี่ปุ่นบ้างก้อแล้วกัน"
วกกลับมาถึงเรื่องพี่ยุ่นเข้าคิวก้นต่อครับ  อาจารย์ฮารา ชินทาโร่ ซึ่งเป็นอาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้เขียนถึงเหตุผลที่ว่า ทำไมคนญี่ปุ่นเข้าแถว ไม่แซงคิว
โดยอาจารย์บอกว่าเขาเองก็ไม่ทราบว่า ทำไมคนญี่ปุ่นเข้าคิวทุกครั้ง และแทบจะไม่มีใครกล้าแซงคิว ที่สำคัญมันยังเป็นหัวข้อที่น่าสนใจสำหรับงานวิจัยด้วย
1. เป็นวัฒนธรรมในสังคมญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นถูกสอนตั้งแต่สมัยอนุบาลศึกษา ทั้งพ่อแม่ ทั้งครู และทั้งบรรดาผู้ใหญ่จะดุเด็กๆ ที่แซงคิวหรือไม่เข้าคิว ตั้งแต่สมัยเด็ก
         ก็เข้าใจว่าการแซงคิวนั้นเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ นี่ไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับดีหรือไม่ดี แต่อยู่ที่ว่าทำได้หรือทำไม่ได้มากกว่า เนื่องจากว่าทุกครั้งที่พยายามจะแซงคิว เด็กๆจะโดนผู้ใหญ่ดุ และไม่มีผู้ใหญ่ที่แซงคิว ทำให้เด็กรู้ว่า ฉันก็ทำไม่ได้
2. คนที่แซงคิวถูกมองว่าเป็นคนที่ไม่มีคุณค่า เพราะคนนั้นเป็นคนที่เห็นแก่ตัว ไม่เกรงใจคนอื่น และทำให้คนอื่นรอนานเพราะความเห็นแก่ตัวของตนเอง
        ชาวญี่ปุ่นแทบทุกคนเน้นความตรงต่อเวลามาก ดังนั้น การแซงคิวหมายความว่า คนที่แซงนั้นไม่ให้เกียรติต่อเวลาของคนอื่น เมื่อคนใดคนหนึ่งไม่เห็นคุณค่าในเวลาของคนอื่น คนนั้นก็ถูกมองว่าคนที่ไร้คุณค่า  แม้ว่าประเทศญี่ปุ่นเผชิญกับสึนามิโศกนาฎกรรมน่าเศร้าเช่นนี้ ญี่ปุ่นก็ยังแสดง ภาพน่าประทับใจให้เห็นถึงสังคมที่มีรูปแบบอย่างดีสามารถรับมือกับวิกฤตอย่าง นิ่งสงบและมีระเบียบ
3. สิทธิและความเท่าเทียมกัน แม้ว่าคนที่อยู่ข้างหน้าของแถวนั้นเป็นคนใดก็ตาม เราก็รู้สึกว่า เขามีสิทธิมากกว่าเรา แม้ว่าเราจะมีอำนาจสูกว่า มีเงินมากกว่า มีการศึกษาสูงกว่า ตำแหน่งที่สูงกว่าก็ตาม ในแถวนั้น คนที่มีสิทธิมากที่สุดก็คือคนที่มาเร็วที่สุด คนนั้นเป็นใคร ไม่ใช่เรื่องสำคัญ เวลาคนญี่ปุ่นเค้าจะข้ามถนนยังต้องเข้าแถวเลย
4. สังคมญี่ปุ่นเชื่อว่า การเข้าคิวนั้นเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน เพราะถ้าไม่มีคิว คนที่ได้เปรียบที่สุดก็คือ คนที่ไม่รู้จักคำว่าอาย เราก็ไม่อยากจะให้สังคมของเราเป็นสังคมที่คนที่ไม่รู้จักคำว่า อาย ได้เปรียบ ทุกคนก็ยอมรับที่จะเข้าแถว แม้ว่าแถวนั้นจะยาวเป็นหลายกิโลก็ตาม
ในสังคมบางสังคม ในขณะที่เราเข้าแถว ผู้ใหญ่มาถึงที่นั้น มักจะมีคนที่ต้อนรับท่านผู้ใหญ่และบอกว่า “เชิญทางนี้นะค่ะ/ครับ” หลังจากนั้นก็จะให้บริการแก่ท่านผู้ใหญ่คนนั้นก่อนคนที่เข้าแถวเป็นเวลานาน
ถ้าในประเทศญี่ปุ่น อาจจะมีคนที่ต้อนรับท่านผู้ใหญ่ (แม้ว่าหายาก) แต่คนที่ต้อนรับท่านผู้ใหญ่นั้นก็ต้องบอกว่า
“ขอบคุณครับท่าน ขอโทษนะครับ วันนี้ คิวมันจะยาวหน่อยครับ”
อ่านข้อเขียนของอาจารย์เสร็จ  ผมเดินไปหยิบธงของหมอลักษณ์ออกมาฟัน
ว่าประโยคช่วงหลังๆ อาจารย์พูดถึงประเทศสารขัณฑ์...ชัวร์


                                                                                              กุนซือ
               p_kiti@hotmail.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น