ถ้านักข่าวรุ่นใหม่ๆสามารถย้อนเวลากลับไปซักประมาณ
20 ปี
หลายคนอาจจะตกใจว่าการทำงานของนักข่าวนั้นเปลี่ยนโฉมชนิด”ตุ๊กกี้เปลี่ยนมาเป็นญาญ่า”เลยทีเดียว
สมัยก่อนเครื่องไม้ เครื่องมือไม่ไฮเทค มีตัวช่วยมากมายเหมือนสมัยนี้
นักข่าวต้องหิ้วกล้องอันเบ้อเริ่มเทิ่มแบกออกไปทำข่าว
ถ่ายรูปเสร็จก็ต้องบึ่งรถกลับมาร้านถ่ายรูปเพื่อตัดฟิลม์ ล้าง อัด
ได้รูปแล้วก็บึ่งมาส่งต้นฉบับที่กอง บ.ก
กว่าจะทำข่าวเสร็จชิ้นหนึ่งค่อนข้าวจะลำบากลำบนพอสมควร
แถมเมื่อก่อน
คอมพิวเตอร์ยังไม่อุแว้ออกมาดูโลก เครื่องมือหากินก็หนีไม่พ้นเครื่องพิมพ์ดีดนี่แหละครับ
ซึ่งตอนนี้เครื่องพิมพ์ดีด
กำลังกลายเป็นวัตถุโบราณที่ควรเก็บสะสมไว้ให้ลูกหลานได้ดู ได้เห็น
ว่าเมื่อก่อนรุ่นคุณลุง คุณป้า โตมาพร้อมกับเครื่องพวกนี้และวิทยุธานินทร์
และตู้เย็นซิงเกอร์
ผมตอนเป็นนักข่าวใหม่ๆ
เจอความกดดันอย่างมาก เพราะต้องใช้สมาธิสูงเวลาส่งข่าว
เพราะเมื่อเดินเข้ามาถึงห้องกองบ.ก จะเจอเสียง”ข้าวตอก”เครื่องพิมพ์ดีด
ดังระรัวจะบรรดาเหยี่ยวข่าวโต๊ะต่างๆ ผมต้องใช้เวลาปรับตัวพอสมควรเวลาพิมพ์งาน
เพราะมือไม้มักจะพาลกดผิด กดถูก อยู่เสมอ เนื่องจากอัตราเร่งคนละพิกัดกับบรรดารุ่นพี่ทั้งหลาย
ผมพิมพ์ในอัตราความเร็วระดับ
“เดินจงกลม”แต่บรรดาพี่ท่านแต่ละคนพิมพ์เหมือนคนขับ”เอฟวัน
“ทำให้จังหวะในการพิมพ์ของผมพัง พิมพ์ผิดตลอด แถมบางคนยังพรสวรรค์สูง
ไม่ต้องพิมพ์ตามตำรา ที่ต้องเอานิ้วมือทั้งหน้าวางเรียงรางบนแป้นพิมพ์ เพราะใช้ดัชนีนิ้วเดียว
พิมพ์ดีด แต่ความเร็วและผลงานที่ได้อาจจะทำให้เลขาหน้าห้องของบริษัทไหน
อายเอาได้ง่ายๆ
แต่โลกใบนี้หมุนเร็วเกินไปครับ
พออินเตอร์เน็ตเข้ามาเกี่ยวข้องกับผู้คนบนโลกมากขึ้น
ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนบนโลกชนิดที่บอกได้ว่า”โลกใบนี้
จะไม่มีทางกลับไปเป็นเหมือนดั่งเดิม”
คนข่าว
ก็ไม่ได้รับการละเว้น...เฉกเช่นกัน
นับวันสังคมของความเป็นจริงของผู้คนบนโลก
โดนลดบทบาทความสำคัญลงไปเรื่อยๆ แต่กลับกลายเป็นสังคมออนไลน์ ที่เข้ามาแทนที่ ถ้า 5 ปีก่อน มีคนมาบอกว่าเชื่อมั้ยว่าคนไทยต่อไปอีกไม่กี่ปีจะหมกหมุ่นอยู่กับโลกของโชเชียล
เน็ตเวิร์ค ผมคงส่ายหัวบอกว่าเป็นไปได้ยาก ถ้าเป็นฝรั่งมังค่าอาจจะเป็นไปได้ง่าย
แต่คนไทยคงต้องใช้เวลามากกว่านั้น
สุดท้ายก็หน้าแหกตามระเบียบ
เพราะลืมจุดเด่นของคนไทยที่คนทั้งโลกต่างกลัวเกรงคือ
คนไทยเป็นคนชอบบริโภคและเป็นนักซื้อตัวยง เราเป็นประเทศเล็กๆ
แต่ชื่อเสียงเรื่องช๊อปแชมป์นั้น เราได้ตำแหน่งมานานแล้ว ฝรั่ง ยุ่น จีน แขก ฯลฯ
ต่างซูฮกในพฤติกรรมการซื้อ แบบราบเป็นหน้ากลองของพี่ไทยมานมนานแล้ว
ว่ากันว่า
ทัวร์ไทยไปเที่ยวเมืองนอก ลงช๊อปร้านไหน ถ้ายี่ห้อถูกใจ...มีเท่าไหร่ ก้อหมด!
มาถึงตอนนี้คนไทยสร้างชื่อครั้งใหม่
ลบโปรไฟล์ “ช๊อปแชมป์”ออกไป หลังมีการเปิดสถิติว่าในบรรดาเมืองหลวงของโลกใบนี้นั้น
เมืองหลวงของประเทศไหนครองแชมป์มีประชากร เฟซบุ๊ค ของคุณน้องมาร์ค ซักเคอร์เบิร์ค
มากที่สุด
บางกอก
เมืองหลวงของสยามประเทศไทยขึ้นแท่นคว้าแชมป์อันดับหนึ่งด้วยยอดประชาชนกรเฟซบุ๊คถึง
8,600,00
คน อันดับสองก็คือประเทศที่มีคนนับถืออิสลามมากที่สุดในโลก
บ้านใกล้เรือนเคียงในย่ายอาเซียนนี่เอง กรุงจาการ์ต้า ของอินโดนีเซีย
วิ่งไล่ขึ้นมาเป็นอันดับสองด้วยยอด 7,400,000 คน
ส่วนที่สามคือ อิสตันบลู ของตุรกี ที่มีคนเล่นเฟซบุ๊คเฉพาะในเมืองหลวง 7,000,000 คน
มหานครลอนดอน
ที่ว่าแน่ๆ ยังต้องคุกเข่าคารวะในลำดับที่สี่ เพราะถึงแม้จะมีคนแออัดยัดเยียด
แย่งกันอยู่ แย่งกันหายใจขนาดไหน ยังมีคนเล่นเฟซบุ๊คแค่ หกล้านหนึ่งแสนคนเท่านั้น
เห็นมั้ยครับ
ว่าไทยเราเจ๋งจริง ไรจริง จนคนต่างชาติบางคนอิจฉาออกมาพูดเชิงกระแนะกระแหนว่า”เรื่องไม่เป็นเรื่องเนี่ย...คนไทย
เก่งนัก!” 555
วกกลับมาพูดถึงเรื่องใกล้ตัว
คือสังคมข่าวในยุคนี้ สมัยนี้ ที่ไม่ต้องเถียงว่าโลกออนไลน์ ในปี
พ.ศ.นี่สำคัญขนาดไหน เอาง่ายๆว่า ถ้าคุณๆเดินเข้าไปในร้านอาหาร หรือร้านกาแฟ แล้วมองดูรอบตัว
ถ้าเผอิญว่าผู้คนในร้านไม่มีใครก้มหน้า ก้มตา กดโทรศัพท์แชดบ้าง
หรือเล่นเฟซบุ๊คบ้าง หรือเล่นเน็ตบ้าง ขอให้ขยี้ตา แล้วกลับเข้าไปมองอีกหน
ถ้ายังเจอผลลัพท์เดิมๆให้อุปมาได้ว่า เป็นร้านของผู้สูงวัย และไม่มี
Wi-Fi ให้ใช้...
ดังนั้นเมื่อโลกอนาคตบังคับให้ผู้คนต้องออนไลน์
ดังนั้นนักข่าวทั้งหลายก็ต้องแปลงกายมาเป็น”นักข่าวออนไลน์”ให้เข้ากับยุคสมัย
คุณสุทธิชัย หยุ่น
“เจ้าพ่อเนชั่น” ซึ่งบรรดาน้องๆยกนิ้วให้เป็นปรมาจารย์ของคนข่าว คุณสุทธิชัย ด้วยความที่เป็นคนที่โลกกว้าง
คุณสุทธิชัย มองเห็นว่าอนาคตของนักข่าวเมืองไทยจะต้องเดินไปอย่างไร
หลายปีที่ผ่านมา หลายสำนักข่าวยังคงไม่ตื่นตัวต่อสภาวะโลกที่เปลี่ยนแปลงไป
แต่คุณสุทธิชัย
ได้เรื่มเปลี่ยนพฤติกรรมนักข่าวของสำนักข่าวของตนเพื่อรับมือกับโลกของข่าวสารในอนาคต
เพราะยิ่งเปลี่ยนช้า นั่นย่อมหมายถึงล้าหลังไปทุกนาที
ผมเองติดตามวิสัยทัศน์ของสุทธิชัย
หยุ่นมาตลอด แถมแอบเอาเป็นต้นแบบในการทำข่าว
พี่ๆน้องๆนักข่าวหลายคนที่กำลังเป็นนักข่าวออนไลน์
อาจจะยังสับสนและไม่เข้าใจบทบาทของคำว่า”นักข่าวออนไลน์”ที่จะต้องรับมือกับอะไรบ้างในอนาคต
ผมขอหยิบบทความของคุณสุทธิชัย ที่เขียนในบล็อกเอามาเผยแพร่อีกรอบ
เพื่ออย่างน้อยอาจจะสร้างมุมมองสำหรับโลกออนไลน์....
คุณสุทธิชัย
หยุ่นเขียนเล่าไว้ในบทความว่า
“ห้องข่าวดิจิตัลคือศูนย์ปฏิบัติการที่คนทุกตำแหน่งทุกหน้าที่จะต้องปรับตัว,ปรับความคิด, ปรับทัศนคติต่อการทำงานข่าวอย่างเป็นรูปธรรม
ไม่ใช่เพียงบอกว่าเห็นด้วยกับการต้องปรับเปลี่ยน, แต่เดินกลับไปที่โต๊ะทำงานก็ยังใช้กระบวนการคิดและทำงานเหมือนเดิม
อย่างที่มีคำกล่าวในหลายวงการว่า
"ยิ่งเปลี่ยน,ยิ่งเหมือนเดิม"
แต่สัจธรรมวันนี้สำหรับคนข่าวก็คือว่าหากเขาไม่เปลี่ยนให้สอดคล้องกับความเป็นไปของการรับรู้ข่าวสารในสังคม
เขาก็จะไม่มีที่ยืนในสังคมที่ทุกอย่างขับเคลื่อนไปอย่างรวดเร็วและรุนแรง
ไม่มีความปรานีสำหรับคนที่ปฏิเสธความเป็นจริงของวันนี้
เข้าสูตร Adapt or Die
หรือ Change...or be changed
นั่นแปลว่าหากคุณไม่เปลี่ยน, คุณก็จะถูกเปลี่ยนอยู่ดี
เริ่มจากกระบวนการทำงานของนักข่าวในภาคสนามซึ่งจะต้องใช้ความเป็นดิจิตัล
และ social
media รวมถึงความ
สามารถในการใช้
"ปัญญาแห่งฝูงชน" (wisdom of the crowd) ในการตรวจสอบ,
แสวงหา, วิเคราะห์, ระดมความคิด, แจกแจงและแจกจ่ายข่าวสารและข้อมูลอย่างคล่องแคล่วทึ่จังหวะการทำงานตลอดทั้งวัน
ถ้าคุณเป็นนักข่าวสายทั่วไป, คุณใช้ทวิตเตอร์ในการรายงาน breaking news ณ
นาทีที่เหตุการณ์เกิดขึ้น
หากคุณอยู่สายข่าวทำเนียบรัฐบาลหรือสภาฯ
คุณต้อง live-tweet
การประชุมที่มีความสำคัญ และเพื่อรวบรวมความ
เคลื่อนไหวของข่าวเดียวกันให้เห็นภาพรวม
คุณก็จะส่งข้อความที่ทวีตหลาย ๆ ข้อความไปที่ blog ของคุณเพื่อให้เห็น ภาพรวมและเบื้องหลังของข่าวที่สามารถตีความให้สอดคล้องกับความต้องการของคนอ่านได้
หากคุณใช้ Storify เป็น
คุณก็สามารถรวบรวมข้อความทั้งของคุณและคนอื่น ๆ
ที่ทวีตหรือที่เขียนลงเฟซบุ๊คและคลิบที่ส่งขึ้น YouTube ในหัวข้อใดหัวข้อหนึ่งเพื่อการเรียบเรียงและรวบรวมให้เห็นการไหลเทของเหตุการณ์หรือความเห็นใน แต่ละเรื่องนั้น
ๆ อย่างเป็นระเบียบและตรวจสอบความถูกต้องแม่นยำได้อย่างต่อเนื่อง
ทุกวันนี้ คนข่าวที่คล่องแคล่วจรู้จักวิธีใช้ Twitter,
Facebook, Google+ และ YouTube ให้ได้ประโยชน์สูงสุดในการทำข่าวและสร้างชุมชมข่าวของตน
ไม่ว่าคุณจะอยู่สายข่าวไหน
การทำงานของคุณจะผสมผสานวิธีการทำงานแบบดั้งเดิมแต่ทรงประสิทธิภาพ นั่นคือการเช็ค
ข่าวด้วยโทรศัพท์, ด้วยการนัดพบแหล่งข่าว และตรวจสอบข่าวดิจิตัลผ่านการเฝ้าติดตาม #hashtags
หรือ feeds ในทวิตเตอร์และหน้าของเฟซบุ๊ค
อีกทั้งใช้ Searches ของ social media อย่างเป็นระบบ
คุณต้องเรียนรู้ที่จะใช้ TweetDeck หรือ HootSuite
หรือ Twitter Lists ในการเฝ้าระวังแหล่งข่าวสำคัญ
ๆ รวมไปถึงการค้นหาและ hashtags ของคนอื่น ๆ
ที่เกาะติดเรื่องราวที่อยู่ในสายข่าวของคุณอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง
ในฐานะนักข่าวดิจิตัลในภาคสนาม คุณทวีตข่าวที่เกิดขึ้น
และส่งข้อความเบื้องหลังข่าวไปถึงบรรณาธิการข่าวของคุณ
ทันทีที่คุณตรวจสอบความแม่นยำอย่างรวดเร็วและฉับพลัน
อย่าให้
"ความเร็ว" มาทำลาย "ความแม่นยำ" หรือ
"ความน่าเชื่อถือ" เป็นอันขาด
ดั่งคำขวัญที่ผมคิดว่าควรจะต้องเขียนตัวโต
ๆ ติดไว้ข้างฝาของห้องข่าวทุกห้อง: Get it first. But first,
get it right.
ในกระบวนการทำงานข่าวประจำวันนั้น นักข่าวดิจิตัลต้องรู้จักใช้ crowdsourcing
อย่างชาญฉลาด..นั่นแปลว่าการมีปฏิสัมพันธ์กับคนทั่วไปที่เข้ามาอยู่ใน
social media เช่นหากเป็นข่าวใหญ่หรือที่มีความสำคัญต่อชุมชน
คุณก็ควรจะเข้าไป live chat กับเพื่อนหรือผู้ตามคุณในเฟซบุ๊คหรือทวิตเตอร์เพื่อขอความเห็นเพิ่มเติม,
ความเห็นแย้ง, หรือมุมมองที่คุณมองข้าม
บ่อยครั้ง, คนที่อยู่ในแวดวงเครือข่ายสังคมจะสนทนากันในหัวข้อที่กำลังเป็นข่าวร้อนอยู่แล้ว
คนข่าวจึงควรจะเข้าไปร่วมสนทนา
หรือสอดแทรกข้อมูลและเบื้องหลังข่าวที่ตนได้มาจากการเช็คข่าวเพื่อให้การแลกเปลี่ยนใน
social
media เข้าประเด็นของเนื้อหาที่คุณกำลังเกาะติดอยู่
หรือเรียนรู้มุมมองใหม่ที่คุณคาดไม่ถึง
เพราะ "ปัญญาแห่งฝูงชน"
นั้นมีอยู่จริงและบ่อยครั้งจะทำให้ปัญญาของคนทำข่าวได้รับการเสริมส่งให้กว้างขวางและลุ่มลึกขึ้นอย่างน่าประหลาดใจ
นักข่าวรุ่นใหม่จะต้องมีความคึกคักในการแสวงหาและใช้ "ฐานข้อมูล"
หรือ databases
เพื่อการนำเสนอลักษณะ interactive และให้การเสนอข้อมูลมีทั้งภาพ,
กราฟฟิค, วีดีโออย่างน่าตื่นตาตื่นใจ
นักข่าวดิจิตัลต้องรู้จักการใช้ #hashtag ไม่ว่าจะเป็นหัวข้อของเรื่องราวที่คุณติดตามอยู่
หรือชื่อของชุมชนที่คุณรับใช้
ด้านข่าวสาร
หรือสองอย่างผสมกันเพื่อความสะดวกในการติดตามข่าวและความเห็นในหัวข้อนั้น ๆ
ทั้งจากคุณเองและผู้ที่ติดตามการทำงานของคุณในทุกรูปแบบ
เพราะเมื่อคุณใช้ #hashtag ใดในการทำข่าวหัวข้อใด,
ชุมชนทั้งหมดที่เกาะติดเรื่องราวของคุณอยู่ก็สามารถจะใช้เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างกันเองหรือกับคุณอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ
อย่าลืมว่านักข่าวดิจิตัลต้องเตือนตัวเองเสมอว่าจะต้องคิดวิธีนำเสนอข่าวในหลากหลายรูปแบบ
ไม่ว่าจะเป็นวิดีโอ, แผนที่, ภาพ, ข้อความ, เอกสารต้นทาง,
ลิงก์ไปยังแหล่งข่าวและข้อมูลอื่น ๆ
การสร้าง "อัตตลักษณ์" ของตัวเองควบคู่ไปกับ "brand"
ขององค์กรข่าวของตนคือเส้นทางแห่งการสร้างความเป็น
"คนข่าวมืออาชีพยุคดิจิตัล" อย่างถาวรและแท้จริง
คนข่าวภาคสนามที่เรียกตัวเองว่า
"ช่างภาพ" หรือ "ช่างกล้อง" แต่ดั้งเดิม ต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดใหม่
และต้องถือว่าตนเป็นเป็น "คนข่าวภาพ" หรือ visual
journalist ซึ่งย่อมหมายความว่าจะรายงานข่าวและภาพ, วีดีโอและทุกอย่างที่เสนอผ่านสายตาของผู้บริโภาคข่าวได้อย่างต่อเนื่องและมีคุณภาพ
ในการปฏิบัติหน้าที่แบบ "Digital First" นั้น คนข่าวภาพจะวางตัวให้ทำกิจกรรมอย่างนี้
๑.
ก่อนอื่นใช้มือถือรุ่นใหม่ถ่ายภาพเหตุการณ์หรือสิ่งที่พบเห็นทันทีและส่งทวีตหรือขึ้นบล็อกเป็น
breaking
news ทันที
๒. พร้อมกันนั้น
เขาหรือเธอก็จะถ่ายวีดีโอ ไม่ว่าจะใช้กล้องวีดีโอใน smartphone
หรือด้วยกล้องที่ใช้ในการรายงานข่าวทีวี
๓.
คนข่าวภาพต้องคิดทันทีว่าจะถ่ายภาพหลาย ๆ มุมเพื่อสามารถจะทำเป็น slideshow
ในภายหลัง และสามารถจะเลือกเอารูปที่โดดเด่นที่สุดของเหตุการณ์นั้น
ๆ สำหรับสื่อสิ่งพิมพ์ในวันต่อไป
๔.
เขาต้องไม่ลืมที่จะอัดเสียงรอบด้าน หรือเสียงให้สัมภาษณ์ของแหล่งข่าวในเหตุการณ์นั้นด้วยอุปกรณ์อัดเสียงที่ทุกวันนี้
มีมากมายและ
ติดมากับกล้องในทุกรูปแบบ เพื่อจะได้ใช้ประกอบ slideshow ที่จะทำขึ้นเว็บไซท์หรือบล็อกของตัวเอง
๕. หากมีโอกาส
เขาจะถ่ายรูปหน้าของคนเป็นข่าว (mugshots) เพื่อใช้ประกอบบทความหรือสารคดีหรือใช้ในอนาคตเมื่อแหล่งข่าวนั้น
ๆ กลายเป็นข่าวอีกในวันข้างหน้า
๖.
หากเป็นกรณีภัยพิบัติ
เขาจะถ่ายรูปของตึกรามบ้านช่องหรือฉากเหตุการณ์เพื่อจะได้นำไปใช้งานอีกหลายด้านที่นำเสนอในรูปแบบต่าง
ๆ หากมีความจำเป็นต้องใช้ หรือไม่ก็เก็บไว้เป็นวัตถุดิบในวันข้างหน้า
๗.
คนข่าวภาพต้องไม่ลืมสอบถามและจดชื่อเสียงเรียงนามและตำแหน่งแห่งหนให้ถูกต้องแม่นยำ
เพราะข้อมูลเช่นนี้จะมีความสำคัญมากเมื่อต้องนำเสนอพร้อมกับผลงานภาพนิ่ง, วีดีโอ, กราฟฟิกที่จะมีขึ้นในสื่อต่าง ๆ
๘.
คนข่าวภาพภาคสนามจะปรึกษากับหัวหน้าโต๊ะหรือบรรณาธิการที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดว่าจะตัดต่อวีดีโอหรือเลือกภาพนิ่งใดในการนำเสนอ
ไม่ว่าจะเอาขึ้นเว็บไซท์, บล็อก, เฟซบุ๊ค,
ยูทูปหรือเพื่อตีพิมพ์ในสื่อของตนในเวลาต่อมา
จะเห็นว่าในโลกสื่อยุคดิจิตัลวันนี้ คนข่าวที่คิดว่าตัวเองเป็นแค่
"ช่างภาพ" หรือ "ช่างกล้อง"
และมีหน้าที่ถ่ายภาพหรือวีดีโออย่างเดียว
ไม่เกี่ยวกับการรายงานข่าวหรือบรรยากาศสีสันบรรยากาศ ณ
ที่เกิดเหตุจะกลายเป็นคนรุ่นเก่าและจะถูกคนข่าวรุ่นใหม่ที่ฝึกปรือมาเป็น digital
journalists for all platforms แซงหน้าจนหาบทบาทของตัวเองไม่เจอ
การปรับบทบาทครั้งใหญ่สำหรับห้องข่าวหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่
"หัวหน้าโต๊ะ" หรือ "บรรณาธิการโต๊ะ"
จะต้องเข้าใจบริบทใหม่ของ "อนาคตแห่งข่าว"
ไม่ใช่แค่คนข่าวที่ต้องปรับตัวให้เข้ายุคดิจิตัล, ตำรวจไทยก็เริ่มเข้ามาใช้ social media ในการสร้าง
"ชุมชนข่าว" ที่จะสอดประสานกับความต้องการของคนในเมืองหลวงที่ต้องการร่วมในการป้องกันและปราบปรามอาชญกรรมอย่างคึกคักแน่นอน
สน. หัวหมากเป็นหน่วยงานตำรวจแห่งแรก ๆ ที่เปิด Facebook
เพื่อให้เป็นแหล่งรายงาน, แจ้ง, และรับคำร้องเรียนจากประชาชนเพื่อช่วยในการทำงานของเจ้าหน้าที่อย่างฉับพลันทันการ
อีกทั้งยังเป็นแหล่งข่าวสารที่ชุมชนข่าวสามารถนำมาแลกเปลี่ยนกันได้อย่างทันท่วงทีและกว้างไกล
......................................................................................................................................................
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น