วันจันทร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2558
โรฮีนจา
ช่วงนี้โลกออนไลน์กำลังระอุด้วยเรื่องของโรฮีนจา ประเด็นหลักที่ถกกันคือ ไทยเราสมควรทำอย่างไรเพื่อรับมือกับปัญหานี้ ความคิดแตกออกเป็นสองมุม ทั้งมุมในเรื่องมนุษยธรรม กับอีกมุมที่ไม่เห็นด้วยเพราะถือว่าอย่าโยนตราบาปนี้ให้ไทยและหากเราตั้งศูนย์อพยพขึ้น ปัญหาในภายภาคหน้าเกี่ยวกับความมั่นคงและปัญหาชนกลุ่มน้อยอาจจะตามมาหลอกหลอนไทยได้ในอนาคต
พอดีไปเจอบทความของคุณวันชัย รุจนวงศ์ อธิบดีอัยการ สำนักงานต่างประเทศ ในเว็บไซต์ของสำนักข่าวอิศรา ซึ่งบอกเล่าเก้าสิบ ปัญหาโรฮีนจา ที่หมักหมมมานาน ได้ค่อนข้างชัดเจนถึง.."ที่มา ที่ไป"
และเพื่อที่จะตอบคำถามของผู้คนส่วนใหญ่ว่า...ทำไม ทุกประเทศในแถบนี้ ไม่ยอมรับโรฮีนจาให้ขึ้นฝั่งและให้ความช่วยเหลือโดยเฉพาะโรฮีนจาที่มาจากรัฐยะไข่ในพม่า
คุณวันชัย เขียนท้าวความนับถอยหลับไปในอดีตตั้งแต่สมัยพม่าประกาศมาตั้งแต่ได้รับเอกราชมาจากอังกฤษเมื่อ 70 ปีมาแล้ว โรฮีนจาไม่ใช่คนพม่า แม้พม่าจะประกอบด้วยชนเผ่าต่างๆ เกือบ 140 ชนเผ่า ที่รัฐบาลพม่ายอมรับว่าเป็นคนสัญชาติพม่า แต่พม่าไม่เคยยอมรับว่าชนเผ่าโรฮีนจาเป็นหนึ่งในนั้น ในกฎหมายของพม่า ชาวโรฮีนจาไม่ได้รับการนับรวมเป็นชนเผ่าในพม่า ไม่ใช่พลเมือง และไม่ให้สิทธิต่างๆ ในฐานะพลเมือง ยังถือว่าเป็นผู้อาศัยเท่านั้น และกดดันด้วยวิธีต่างๆ อันสบเนื่องมากจากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์
ความไม่พอใจของพม่าที่มีต่อชาวโรฮีนจา มีมาตั้งแต่สงครามกับอังกฤษ รวมสามครั้ง สองครั้งแรก อังกฤษยึดพม่าตอนล่างรวมทั้งกรุงย่างกุ้งและเมืองต่างๆ บริเวณทางใต้ ครั้งที่สามอังกฤษตีเมืองมัณฑะเลย์ จับกษัตริย์พม่าและครอบครัวไปกักตัวไว้ที่เมืองรัตนคีรีในอินเดียจนตาย พร้อมทั้งยึดเอาทับทิม เพชรพลอยและสิ่งของมีค่า (ที่ราชวงศ์กษัตริย์ของพม่าสะสมไว้มากมายหลายหีบ) ไปจากพม่าเกือบหมด และอังกฤษยึดพม่าไว้เป็นเมืองขึ้นทั้งประเทศ
ในการรบกับพม่า นอกจากทหารอังกฤษแล้ว อังกฤษยังเอาทหารกูรข่า และพวกโรฮีนจาจากอินเดีย (ปัจจุบันเป็นบังคลาเทศ) มาช่วยอังกฤษรบกับพม่า และเมื่ออังกฤษยึดครองพม่า ก็เปิดให้คนอินเดียอพยพเข้ามาทำมาหากินและค้าขายในพม่าได้สะดวก พวกโรฮีนจาที่มาช่วยรบก็ลงหลักปักฐานในพม่าและอีกจำนวนมากก็อพยพเข้ามาเพิ่มเติม
จนปัจจุบันมีคนโรฮิงยาจำนวน 1.6 ถึง 2 ล้านคนในพม่า ซึ่งพม่ายังถือว่าพวกโรฮิงยาไม่ใช่พม่าเดิมและเป็นพวกศัตรู แม้โรฮีนจารุ่นแรกๆ จะล้มหายตายจากไปตามอายุขัยและลูกหลานรุ่นหลังๆ จะเกิดในพม่า แต่พม่าก็ยังถือว่าไม่มีทางที่จะเป็นคนพม่าได้ เป็นเพียงผู้อาศัยชั่วคราว ถ้าออกจากพม่าไปแล้วจะไม่ให้กลับเข้ามาอีกเด็ดขาด
แม้จะถูกกดดันจากพม่า แต่สถานการณ์ในบังคลาเทศก็ยิ่งยากจนกว่า และเป็นประเทศที่มีประชากรหนาแน่น พวกโรฮีนจาที่เกิดในพม่า เมื่อหลบหนีไปประเทศบังคลาเทศ ก็ไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นพลเมือง
ถึงจะเป็นคนเชื้อชาติเดียวกันและถือศาสนาอิสลามเหมือนกันก็ตาม
มีโรฮีนจาจำนวนมากที่หนีไปบังคลาเทศ บังคลาเทศก็ไม่ให้เข้าประเทศ แต่จัดให้อยู่ในแค้มป์ผู้ลี้ภัยตามชายแดนซึ่งยากลำบากมาก และจะกลับเข้าพม่า พม่าก็ไม่ยอมให้กลับเช้ามา และทำทุกวิถีทางที่จะกำจัดคนพวกนี้ออกไปจากพม่า
ปัญหาจึงอยู่ตรงนี้ว่า คนโรฮีนจาจึงไม่เหมือนผู้ลี้ภัยกลุ่มอื่น และมีจำนวนมากเกือบสองล้านคน ที่อยู่ในความกดดันของพม่าอยู่ตลอดเวลา คนลี้ภัยหรือหนีภัยสงครามจากประเทศลาว เขมร เวียดนาม หรือพวกกะเหรียง หรือชนกลุ่มน้อยอื่น ที่เป็นผู้ลี้ภัยชั่วคราว เมื่อภัยนั้นพ้นไป ก็สามารถส่งกลับประเทศได้ เป็นการให้ที่พักพิงลี้ภัยชั่วคราว
แต่ก็เป็นภาระหนักมาก และอย่าไปหวังว่าประเทศอื่นจะเข้ามาช่วย แม้การรับพวกผู้อพยพไปประเทศที่สาม ก็ใช้เวลานานประมาณ 20 ปี โดยคัดเอาแต่คนหนุ่มสาวที่ไปเป็นกำลังแรงงานได้และมีความรู้ไป ทิ้งประชากรที่ด้อยคุณภาพไว้ให้ประเทศไทยรับเป็นภาระต่อมาจนทุกวันนี้
และผู้ลี้ภัยโรฮีนจาจะเป็นผู้ลี้ภัยถาวร ไม่ว่าประเทศใดที่รับไว้ หมายความว่าต้องรับไว้ตลอดชีวิตตลอดจนลูกหลานที่จะเกิดตามมาในอนาคต ไม่มีทางที่จะส่งกลับไปได้
ด้าน UNHCR หรือข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ก็ไม่กล้าออกมาสนับสนุนเงินทุนเหมือนกรณีอื่น เพราะกรณีนี้หากมีการตั้งค่าย จะต้องเป็นค่ายถาวรไปไม่รู้ว่าจะจัดการส่งกลับต้นทางได้หรือไม่ และจะตั้งค่ายไปตลอดชีวิตจนถึงชั้นลูกหลานได้อย่างไร
ใครจะรับผิดชอบเรื่องค่าใช้จ่าย ในที่สุดก็ต้องกดดันประเทศที่รับไว้ให้หาทางเลี้ยงคนพวกนี้ไปจนตายหรือยอมให้กลายเป็นพลเมือง
ด้วยเหตุนี้ ทั้งสามประเทศ คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย จึงไม่กล้าที่จะรับชาวโรฮีนจามาไว้ในประเทศ ที่เข้ามาแล้วก็ผลักดันกันไปด้วยวิธีการนอกระบบ ด้วยการส่งออกไปทางชายแดนพม่า แต่ทั้งสามประเทศไม่ยอมให้เข้ามาในน่านน้ำตัวเอง ได้แต่ส่งน้ำ ส่งอาหารและซ่อมเรือให้ แล้วผลักดันออกไปในเขตทะเลสากล หรือในน่านน้ำของต่างประเทศ
เพราะไม่มีใครที่กล้ารับภาระที่ไม่รู้จบในขณะที่ประเทศเหล่านี้ยังมีปัญหาประชาชนที่ยากจนและเศรษฐกิจที่ย่ำแย่อยู่
ประเทศทางตะวันตกที่เคยเสียงแข็งเรื่องสิทธิมนุษยชน ก็ไม่กล้าเอ่ยปากมากนัก เพราะในยุโรปเอง อิตาลีก็ใช้วิธีกันเรือผู้อพยพไม่ให้เข้ามาในน่านน้ำ เพราะอิตาลีเองก็เจอปัญหาผู้อพยพจากอาฟริกาเข้ามาในอิตาลีจำนวนมาก และได้ร้องขอให้ชาติในยูโรช่วย แต่ก็ถูกทอดทิ้งให้รับภาระตามลำพัง
ออสเตรเลียที่มักเน้นด้านมนุษยธรรมสูง ก็เจอปัญหาผู้อพยพทางเรือเข้าออสเตรเลียมากมาย จนออสเตรเลียต้องใช้ทหารเรื่อกันไม่ให้เรือผู้อพยพเข้ามาในน่านน้ำ และใช้วิธีลากเรือผู้อพยพออกนอกเขตน่านน้ำของตนเช่นเดียวกัน หากผู้อพยพจมเรือ ก็จะเอาไปกักกันไว้ในเกาะคริสต์มาส
ซึ่งออสเตรเลียถือว่าไม่ได้อยู่ในดินแดนของตน และสร้างค่ายอพยพให้คนเหล่านี้ไว้ และเมื่อไม่ถือว่าอยู่ในดินแดนของตน คนเหล่านี้จึงไม่ได้สิทธิในฐานะผู้ลี้ภัยตามอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย
ประเทศที่เคยทำตัวเป็นผู้ที่มีมนุษยธรรมสูงและชอบตำหนิประเทศอื่นว่าไม่ยอมรับผู้ลี้ภัย ในยุคที่เศรษฐกิจตกต่ำเช่นนี้ ก็ไม่กล้ามีปากเสียงออกมาอย่างเต็มที่ เพราะหากออกหน้ามาจะถูกสวนทันทีว่า ประเทศนั้นจะรับผิดชอบด้านการเงินไหม และจะรับคนพวกนี้ไปประเทศตัวเองไหม จะได้ส่งให้ทันที
คุณจอห์น แครี่ รมว กระทรวงการต่างประเทศ ที่ออกมากดดันไทยแถมโทรกริ๊งกร๊างในนามตำรวจโลกให้ไทยเปิดศูนย์พักพิง แล้วก้อ..บลา บลา บลา อ้างเรื่องมนุษยธรรมเป็นธงนำ ถ้าวันไหนเรางอนทนไม่ไหว โทรกลับไปบอกคุณโอบามา เจ้านายใหญ่ของคุณจอห์นว่า ไทยเห็นใจ แต่ไทยไม่มีตังค์ แถมมีปัญหาเรื่องสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
เอางี้แล้วกัน เดี๋ยวไทยจะจัดเหมาลำการบินไทย แอร์เอเซีย นกแอร์ ฯลฯ เหินฟ้าขนชาวโรฮีนจาไปลงที่เกาะฮาวายแระกัน เพราะรู้ว่า พี่มะกันห่วงใยเรื่องมนุษยธรรมเป็นอย่างมาก ก้อไม่รู้ว่าคุณจอห์นจะไปกระซิบลูกพี่โอบามา ว่าจะให้ไปลงที่เกาะไหน เพราะมีตั้งหลายเกาะ เจียดมาให้ เพือมนุษยธรรมซักเกาะ คงไม่เกินกำลังพญาอินทรีอย่างมะริกันชนหรอก
กลัวอย่างเดียว โทรไปหาแล้วจะเจอ...
"ไม่มีสัญญานตอบรับ จากหมายเลขที่ท่านเรียกกกกกก....."
หันหน้ามาดูทาง UN ก็ไม่มีศักยภาพพอ เพราะมองเห็นแล้วว่าหากเข้าไปรับภาระเต็มๆ ด้วยตัว UN เอง ก็ต้องรับภาระทั้งหมด โดยเฉพาะด้านการเงิน ทั้งๆ ที UN ก็มีปัญหาด้านการเงินอยู่มากแล้ว จะหาเงินมาใช้แต่ละปีต้องรอประเทศผู้บริจาคซึ่งมีปัญหามากในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ ถ้ามารับงานนี้เต็มตัว UN จะไม่มีเงินมาจ่าย ต้องตัดเนื้อตัวเอง และจะไปไม่รอดในที่สุด
นอกจากนั้น UN เองก็ไม่มีปัญญาที่จะไปจัดการกับประเทศพม่าให้ลดการกดดันโรฮีนจา และให้รับพวกโรฮีนจากลับ หากพม่ายอมรับกลับ และอยู่ร่วมกันโดยไม่กดดันชาวโรฮีนจา ปัญหาคงจะน้อยไปกว่านี้เยอะมาก
อีกประเด็นหนึ่งที่ประเทศในแถบนี้ไม่กล้ารับโรฮีนจาไว้และดูแลตามมาตรฐานที่ UN กำหนด เพราะยังมีชาวโรฮีนจาอีกล้านกว่าคนที่รอดูอยู่ หากเห็นว่าได้รับการดูแลดี อีกล้านกว่าคน หรืออย่างน้อยหลายแสนคนพร้อมที่จะเดินทางมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของพม่าที่ต้องการไล่ชาวโรฮิงยาออกนอกประเทศอยู่แล้ว
ปัญหานี้จึงเป็นปัญหาที่ไม่มีทางออก แต่ประเทศในแถบนี้ (อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย สิงคโปร์ บรูไน) ไม่มีใครกล้ารับพวกนี้ไว้และปกป้องน่านน้ำของตนเองอย่างหนาแน่น
กรณีนี้จึงอยู่ที่ความร่วมมือของทั้งสามชาติหลัก คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย ที่จะต้องร่วมมือกันกำจัดกลุ่มที่ร่วมเป็นเครือข่ายการลักลอบพาคนเข้าเมือง ซึ่งมีทั้ง คนพม่า คนโรฮีนจา คนไทย คนมาเลเซีย และคนอินโดนีเซียอย่างเด็ดขาด โดยใช้กฎหมายใหม่ของไทย คือ พระราชบัญญัติ ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ อย่างเด็ดขาด
เพราะคนพวกนี้เป็นต้นตอในการนำคนเหล้านี้ให้ลงทะเลข้ามมา และมาตกระกำลำบากอยู่ในเวลานี้ รัฐบาลต้องเอาจริงเอาจังในการปราบปรามและการกำจัดเจ้าหน้าที่ที่ทุจริต และเจ้าหน้าที่ต้องไม่เห็นแก่ได้ ต้องไม่รับเงิน และต้องจัดการปราบปรามอย่างจริงจัง ต้องกวาดล้างให้สิ้น เงินเล็กน้อยที่พวกนี้ได้มาจากการทุจริต แต่จะสร้างภาระให้ประเทศไทยไปชั่วลูกชั่วหลาน
กรณีนี้จึงเป็นการขัดกับความรู้สึกด้านมนุษยธรรมอย่างมาก เพราะมีชาวโรฮีนจาลอยคออยู่ แต่ไม่ประเทศไหนกล้าที่จะรับไว้ เว้นแต่ UN จะสามารถเจรจากับพม่าให้รับกลับคนเหล่านี้กลับไปอยู่ยังแผ่นดินเกิดของตนได้
วิเคราะห์แล้วก็เหนื่อยแทนครับ กับรัฐบาลคนที่ต้องแก้ปัญหาเหล่านี้ เพราะเป็นปัญหาที่ยากมาก เป็นปัญหาที่ไม่มีทางออก และเป็นปัญหาที่อังกฤษทิ้งไว้ให้เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว จริงๆ
อ่านบทความชิ้นนี้เสร็จ ก็เชิญเลือกฝั่ง ถือข้างกันเองตามสะดวกครับ
กุนซือ
p_kiti@hotmail.com
วันจันทร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2558
เมืองจักรยาน
เรื่องจักรยาน ที่กำลังเป็นประเด็นร้อนในเมืองไทย หลังมีอุบัติเหตุเกี่ยวกับจักรยานบ่อยมากขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดกระแสรณรงค์ให้คนใช้รถ ใช้ถนน โดยเฉพาะบรรดารถยนต์ทั้งหลาย มีน้ำใจในการใช้เส้นทางร่วมกัน
โดยเฉพาะเชียงใหม่ที่กำลังตั้งโจทย์ว่า จะทำให้กลายเป็นเมืองจักรยาน ผมเองยกมือเชียร์เต็มที่ เมืองเชียงใหม่เป็นเมืองน่ารัก น่าอยู่ ถ้าเราผลักดันให้บ้านเราเป็นเมืองจักรยานได้ รับรองว่าเสน่ห์ของเมืองเชียงใหม่จะพุ่งติดลมบนทันที
แต่อาจจะต้องใช้เวลาเพราะจะปรับเปลี่ยนแบบทันที ทันใด อาจจะเป็นเรื่องที่ยากอยู่ซักหน่อย
หลังข่าวนักศึกษาขับรถชนจักยาน จนทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต จนทำให้หลายฝ่ายต้องออกมารณรงค์กันอย่างครึกโครม เจ้าหน้าที่จัดแถวออกตรวจสถานบริการต่างๆ เพื่อขอความร่วมมือว่า"เมาไม่ขับ" โดยมีอุทาหรณ์จากเรื่องนี้เป็นแบบอย่าง
เรื่องนี้ผมเองมองว่าเป็นเหมือนเหรียญสองด้านครับ ผมเองก็ปั่นจักรยานกับเค้าเหมือนกัน แต่ปั่นแถวซอย กับย่านถนนที่อยู่แถวบ้าน ส่วนใหญ่ก็ปั่นคนเดียว เช้าๆก็เข็นจักรยานออกไปปั่น ได้ประมาณ 20 กิโลเมตร พอได้เหงื่อ ร่างกายเรื่มหอบแฮ่กๆ ก็ปั่นกลับบ้าน..ประมาณนั้น
ไม่ได้ปั่นแบบอาชีพ เหมือนน้องๆนักข่าวที่อยู่ออฟฟิต ที่ออกแนวปั่นเป็นชมรม ปั่นเป็นกลุ่ม ดูแล้วได้ทั้งความสุขและได้ทั้งสุขภาพ เคยอยากจะไปร่วมแจมกับน้องๆเค้าเหมือนกัน แต่กลัวว่าจะเป็นตัวถ่วง เนื่องจากเป็นนักปั่นแถวสมัครเล่น ความเร็วประมาณแมวย่อง
ซึ่งอาจจะเป็นภาระของน้องๆทั้งหลายที่ต้อง"ปั่นไป รอไป" อาจจะเสียสุขภาพจิต เลยปลีกวิเวก ปั่นคนเดียวดีกว่า
เผอิญบ้านผมอยู่ในซอย ซึ่งใกล้ๆกับตรงจุดเกิดเหตุที่น้องนักศึกษาไปชนกลุ่มจักรยานนั่นแหละครับ เนื่องจากซอยค่อนข้างลึกระยะทางหลายกิโลเมตร เพราะเชื่อมระหว่างถนนสันกำแพงกับดอยสะเก็ด
จึงเหมาะด้วยประการทั้งปวงที่จะเป็นที่ปั่นจักรยาน เนื่องจากไม่มีรถรามากนัก รถใหญ่รถบรรทุก ก็ไม่มี แถมวิวสองข้างทางก็ออกแนวธรรมชาติ เรียกว่าปัจจัยเอื้อหมดสำหรับนักปั่นทั้งหลาย
ครั้งหนึ่งผมขับรถออกจากบ้านตอนเช้าตรู่ พระอาทิตย์ยังไม่ออกมา"เซย์ ไฮ"กับผู้คน รอบข้างสองข้างทางจึงค่อนข้างมืด ขับมาเรื่อยๆ ก็ต้องเบรคตัวโก่งครับ เพราะข้างหน้าคือจักรยาน ที่ปั่นมาออกกำลังกาย
ในซอยมืดๆที่ไม่มีแสงไฟ เวลาปั่นจักรยานตอนช่วงนี้ ผู้ปั่นจะต้องรู้ครับว่า มีความเสี่ยงอยู่มาก เนื่องจากบรรดารถยนต์อาจจะมองไม่เห็น บางคันไม่มีไฟส่องสว่างที่ด้านหลัง มีแต่แผ่นสะท้อนแสง ซึ่งค่อนข้างเก่า ประสิทธิ์ภาพ ก็ด้อยตามไปด้วย
แถมไฟหน้าก็แสงสว่างวับๆแวมๆ และส่วนใหญ่นักปั่นทั้งหลายมักจะกดไฟหน้ารถให้ฉายลงต่ำ เพื่อจะได้มองเห็นเส้นทาง
ทีนี้จะมาด่าว่ารถยนต์ฝ่ายเดียวก็เห็นจะไม่ถูกครับ ผมเองเกือบชนอย่างจัง เพราะมองไม่เห็นจริงๆ โชคดีไม่มีรถสวนทางมา ก็เลยเปิดไฟสูง พอเปิดปุ๊บก็ต้องอุทานเสียงหลง หักพวงมาลัยหลบทันที ไม่งั้นกวาดจักรยานลงข้างทางแน่
คือเมาหรือไม่เมา ถ้าเจอแบบนี้ ก็อาจจะเกิดอุบัติเหตุได้ทุกครั้งครับ
หลังจากใจเต้นตุ้มๆต่อมๆ มาได้ซักแปร๊บบบ ขับมาอีกหน่อย เจอเข้าอีกเคส คราวนี้เป็นจักรยานที่สวนทางมาครับ ยอมรับว่าเกือบมองไม่เห็น เพราะไฟหน้า นักปั่นก็กดลงส่องกับพื้น
ถ้าไม่เปิดไฟสูงเนี่ย ก็นึกภาพไม่ออกเหมือนกัน เนื่องจากถนนในซอยเป็นสองเลนค่อนข้างแคบ
เรื่องนี้ เวลาเรารณรงค์ เราต้องร่วมด้วยช่วยกันครับทั้งสองฝ่าย
ตามสโลแกนแหละครับ"รถเป็นของเรา แต่ถนน..ไม่ใช่"
ดังนั้นเราต้องจับมือกันแก้ไข ไม่ให้เกิดเรื่องร้ายตามมาอีก เหมือนกับตัวอย่างที่ผ่านมา
รถจักรยานเอง ผมเองก็เข้าใจนะครับ ช่วงนี้อากาศมันร้อน ก็อยากจะร่นระยะเวลาปั่นเช้าขึ้นมาอีกหน่อย บางคนตีสี่ ตีห้า ก็ตื่นออกมาปั่นกันแล้ว ทีนี้ เราก็ต้องเห็นหัวอก ใจเค้า ใจเรา แต่ละคนก็คงไม่อยากให้เกิดอุบัติเหตุแหละครับ
ถ้าอยากจะปั่นตอนเช้าๆ เวลาที่แสงว่างตามท้องถนนยังไม่มี ก็ต้องเตรียมอุปกรณ์สำหรับส่องสว่างให้พร้อม ไฟข้างหลังเป็นไฟกระพริบ แจ้งให้รถคันหลังทราบว่า ข้างหน้าเป็นจักรยาน
ไฟหน้า ก็ต้องหาซื้อรุ่นที่มีแสงไฟพอเพียงที่จะทำงานได้ และรถสวนผ่านมาได้เห็น
เสื้อผ้าทั้งหลาย ก็ควรจะสวมใส่เสื้อผ้าที่เป็นสีสะท้อนแสง หรือซื้อเสื้อกั๊กสะท้อนแสงมาใส่เลย รับรองว่าจะช่วยได้อีกอักโข เพราะมองเห็นได้แต่ไกล
บางทีกระแสจักรยานในช่วงนี้อาจจะแรงซักหน่อย ล่าสุดผมเห็นภาพ มีนักปั่นจักรยานสามคน แต่งชุดปั่นจักรยานเต็มยศ จอดจักยานแล้วไปนอนกลางถนนชูป้ายว่า"หยุดฆ่านักปั่น" เห็นแล้วก็รู้สึกไม่เข้าท่า เข้าทาง
อยากกระซิบบอกน้องๆเขาเหมือนกันว่า"บางทีอะไรที่มันเยอะไป มันก้อดู..น่าเกลียด"
จากที่เคยอยู่ฟากที่ทุกคนเห็นใจ เข้าใจ และกำลังร่วมด้วยช่วยกัน ให้คนไทยที่ใช้รถ ใช้ถนน ให้เกียรติบรรดารถเล็กทั้งหลายโดยเฉพาะรถจักรยาน ว่าเป็นเพื่อนร่วมถนนด้วยกัน
น้องๆมาแอ็คชั่นเกรียนๆแบบนี้ ระวังจะโดนกระแสโลกออนไลน์ตีกลับ งานนี้บอกได้เลยครับว่า..ได้ไม่คุ้มเสียครับ
สังคมจะอยู่ได้ ถ้าเราหยุดประนาม แล้วหาทางออกร่วมกัน
ปิดท้ายด้วยความฝัน ก้อได้แต่หวังว่าซักวัน จะตะโกนบอกเพื่อนๆได้เต็มปากว่า
"เมืองช้านนนน..เป็นเมืองจักรยาน"
กุนซือ
p_kiti@hotmail.com
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)