วันอังคารที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2555
วีเซนเต้
คืนวันจันทร์ที่ผ่านมา โลกโชเชียล เน็ตเวิร์คคึกคักกันเป็นแถว โดยเฉพาะสังคมทวิตเตอร์ เพราะมีรายงานเกี่ยวกับพายุใต้ฝุ่น"วีเซนเต้" ที่กระหน่ำเข้าเกาะฮ่องกง หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมพายุใต้ฝุ่นเข้ที่ฮ่องกง แต่คนไทยสนใจกันจัง
สาเหตุมีหลายประการครับ ประการแรกเพราะช่วงนี้ทักษิณ นายใหญ่แห่งค่ายเพื่อไทยไปปักหลักอยู่ที่นั่น เพื่อเตรียมฉลองวันเกิดในวันที่ 26 ก.ค นี้ แถมบรรดาส.ส ทั้งหลายรวมถึงแกนนำเสื้อแดงต่างๆ ต่างพาเหรดไปฮ่องกงกันเป็นทิวแถว พอพายุใต้ฝุ่นวีเซนเต้ พัดโครมเข้าเกาะฮ่องกง แถมยังมีความรุนแรงในระดับ 10 เทียบเท่ากับเฮอร์ริเคนระดับ 4 ซึ่งถือว่าสูงสุดในรอบหลายสิบปี
ทำให้หลายคน รวมทั้งบรรดากระจอกข่าวทั้งหลายต้องตามข่าวกันให้วุ่น กลัวคนที่แห่แหนไปพบนายใหญ่จะถูกพายุพัดตกทะเลไป
แถมยังมีประเด็นให้มาคุยต่อในโลกทวิตเตอร์อีกประเด็นหนึ่ง เมื่อสำนักข่าวฮ่องกง ดันออกข่าวว่าพายุวีเซนเต้เป็นพายุไซโคลนบ้าง พายุเฮอร์ริเคนบ้าง ทำให้หลายคนเกิดอาการ ง.งู สองตัววิ่งเข้าชนกัน งงกันเป็นแถบว่าตกลงจะให้เรียกว่าพายุอะไร
สำนักข่าวไทยบางสำนัก ก็พาซื่อเหลือหลาย ทั้งๆที่รู้ว่าต้องเรียก"วีเซนเต้"ว่าเป็นพายุใต้ฝุ่น แต่ลอกข่าวแปลมาอย่างผิดๆ ถึงแม้จะมีคนทักท้วง แต่ก็อ้างว่าต้องเสนอข่าวตามฮ่องกง ผมอ่านแล้วก็งง สำหรับคำแก้ตัว
หลายคนอาจจะสงสัยว่าเราจะรู้ได้อย่างไรว่าพายุนี้เป็นพายุใต้ฝุ่น อันไหนเป็นไซโคลน แบบไหนเป็นเฮอร์ริเคน
โลกนี้เขาถือกติกาเดียวกันว่า การเรียกชื่อพายุว่าเป็นประเภทไหนนั้น เขาให้เรียกตามพิกัดที่เกิดพายุนั้นๆครับ
ถ้าพายุพบแถบมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือด้านตะวันตก ทางตะวันตกของลองจิจูด 170 องศา เรียกว่า "ไต้ฝุ่น" เกิดมากที่สุดในเดือนกรกฎาคม สิงหาคม กันยายน และตุลาคม
แต่ถ้าย้ายมาแถวมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือแถวทะเลแคริบเบียนและอ่าวเม็กซิโก เรียกว่า "เฮอร์ริเคน" เกิดมากในเดือนสิงหาคม กันยายน และตุลาคม รวมถึงมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ ฝั่งตะวันตกของประเทศเม็กซิโก เรียกว่า "เฮอร์ริเคน"เหมือนกัน
พายุแถวบริเวณมหาสมุทรอินเดียเหนือ อินเดียใต้ อ่าวเบงกอล รวมไปถึงทะเลอาหรับทั้งหลาย เรียกว่า "ไซโคลน"
แต่ถ้ามุดลงไปทางใต้ ทางมหาสมุทรอินเดียใต้ ตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปออสเตรเลีย เรียกว่า "วิลลี-วิลลี"
บางคนอาจจะสงสัยต่อว่าแล้วบรรดาชื่อพายุ เอามาจากไหน
เรื่องของเรื่องก็คือเมื่อพ.ศ. 2543 มีการจับมือของประเทศและดินแดนต่าง ๆ รวมทั้งสิ้น 14 แห่งที่เป็นสมาชิกของคณะกรรมการพายุไต้ฝุ่นขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organizations Typhoon Committee) ลุกขึ้นมาจัดระบบการตั้งชื่อพายุหมุนเขตร้อนในแถบนี้ใหม่ โดยแต่ละประเทศ (หรือดินแดน) ได้ส่งชื่อพายุในภาษาของตนมาให้ประเทศละ 10 ชื่อ รวมทั้งสิ้นได้ 140 ชื่อ
กำหนดให้ใช้ภาษาท้องถิ่นในแต่ละประเทศในการตั้งชื่อพายุ ได้แก่ กัมพูชา จีน เกาหลีเหนือ ฮ่องกง ญี่ปุ่น ลาว มาเก๊า มาเลเซีย ไมโครนีเซีย ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ ไทย สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม
สำหรับ ชื่อพายุจะแบ่งเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มละ 28 ชื่อ เรียงตามชื่อประเทศของลำดับตัวอักษรภาษาอังกฤษ เริ่มจากกัมพูชา เรื่อยไปจนถึงเวียดนามซึ่งเป็นอันดับสุดท้าย โดยไทยเราอยู่อันดับที่ 12 เมื่อใช้หมด 1 กลุ่มก็จะขึ้นชื่อแรกในกลุ่มที่ 2 เรียงกันเรื่อยไปจนครบทุกกลุ่ม แล้วจึงกลับมาใช้ชื่อแรกของกลุ่มที่ 1 ใหม่อีกครั้ง
สำหรับชื่อที่พี่ไทยส่งเข้าประกวดได้แก่ พระพิรุณ ทุเรียน วิภา รามสูร เมขลา มรกต นิดา ชบา กุหลาบและขนุน
ส่วนคุณพี่วีเซนเต้ ที่กำลังแผลงฤทธิ์อยู่นี้พญาอินทรี เป็นผู้ตั้ง มีความหมายคือเป็นชื่อผู้ชายในภาษาชามอร์โร (ภาษาพื้นเมืองเกาะกวมและหมู่เกาะนอร์เทิร์นมาเรียนา)
ตบท้ายด้วยเกร็ดเบาๆที่ว่า เชื่อหรือไม่ ครับว่าอุตุนิยมวิทยาโลก ก็ถือเรื่องโชค เรื่องดวงเหมือนกับพี่ไทยเหมือนกัน เพราะเขามีกฏแนบท้ายเกี่ยวกับพายุว่าสำหรับชื่อพายุลูกใดที่มีความรุนแรงมากจนสร้างความเสียหายในบริเวณกว้างจะถูกยกเลิกไป และตั้งชื่อใหม่เข้ามาแทน
เห็นมั้ย..ไม่ว่าที่ไหน ไสยศาสตร์...มีจริง
กุนซือ
P_kiti@hotmail.com
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)